ความหมายของหมอลำ
นักวิชาการได้ให้ความหมายของหมอลำหลายท่านดังนี้
เจริญชัย ชนไพโรจน์ (๒๕๒๖ : ข) หมอลำหมายถึงผู้เชี่ยวชาญในการลำซึ่งใช้แคนเป่าคลอประสานเสียง
จารุวรรณ ธรรมวัตร (ม.ป.ป. : ๒๒) หมายถึง การขับลำนำด้วยภาษาถิ่นอีสานประกอบเสียงดนตรีที่เรียกว่าแคน
บุญเรือง ถาวรสวัสดิ์ (๒๕๒๑ : ๔๑) หมายถึง การร้องทำนองกลอนในหนังสือผูกคนที่สามารถจดจำคำกลอน ในหนังสือวรรณคดีได้เป็นเรื่องเป็นราวจึงถือว่าเป็นคนเก่งที่เรียกว่า หมอลำ สรุปได้ว่า หมอลำเป็นการแสดงพื้นบ้านอีสานอย่างหนึ่งที่อาศัยการขับลำนำด้วยภาษาถิ่นอีสานประกอบดนตรีพื้นบ้านที่เรียกว่า "แคน" เป่าคลอประสานเสียง
กำเนิดของหมอลำ
หมอลำกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ได้มีการสันนิษฐานไว้ ๓ ประการ คือ
๑. หมอลำน่าจะเกิดจากความเชื่อเรื่อง "ผีฟ้า ผีแถน และผีบรรพบุรุษ" ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ผีเหล่านี้มีอำนาจเหนือธรรมชาติสามารถบันดาลให้เกิดภัยธรรมชาติและความเจ็บป่วยแก่มนุษย์ได้ มนุษย์จึงได้จัดพิธีกรรมรักษาผู้ป่วยตามวิธีการของหมอผี คือการลำผีฟ้า ลำส่อง ลำทรง ต่อมาได้พัฒนาการลำมาเป็น "ลำพื้น" และ "ลำกลอน" ตามลำดับ
๒. หมอลำอาจจะเกิดจากธรรมเนียมการอ่านหนังสือผูก หนังสือผูกคือวรรณกรรมพื้นบ้านที่จารลงในใบลาน เรื่องราวที่บันทึกอาจเป็นชาดกหรือนิทานพื้นบ้าน เป็นต้นว่า เรื่องการะเกิด สังข์-สินชัย เสียวสวาสดิ์ ผู้อ่านหนังสือผูกต้องสามารถอ่านหนังสือได้อย่างแตกฉานจนสามารถจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างขึ้นใจ แล้วจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ลักษณะการเก็บหนังสือผูก คนโบราณใช้วิธีเอาลำไม้ไผ่มาทะลุปล้องแล้วสอดหนังสือไว้ข้างใน มีฝาปิดมิดชิดเรียกหนังสือว่า "หนึ่งลำ" ผู้ที่สามารถลำเรื่องราวในหนังสือ "หนึ่งลำ" ได้นั้นเรียกว่า "หมอลำ" หรือ "คนลำ" ดังนั้นคำว่า "หมอลำ" น่าจะเกิดจากหมอลำในวรรณกรรมหนังสือผูกดังกล่าว
๓. หมอลำน่าจะเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้นว่า การลงข่วงเข็นฝ้าย การลงแขกเกี่ยวข้าว และการมีส่วนร่วมในงานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ โดยที่หนุ่มสาวได้มีโอกาสสนทนากันด้วยโวหารที่ไพเราะ และมีความหมายลึกซึ้ง เรียกว่า พูดผญา หรือจ่ายผญา ต่อมาได้เอาผญาเกี้ยวไปขับลำนำโต้ตอบกัน เกิดเป็น "ลำผญา" และ "ลำกลอน" ขึ้น ซึ่งการลำผญานี้ลักษณะการแสดงที่คงรักษาเกี้ยวสาวในลานข่วงไว้ โดยผู้แสดงจะนั่งลำ ไม่ยืนลำเหมือนหมอลำประเภทอื่น (จารุวรรณ ธรรมวัตร. ม.ป.ป. : ๔๑)
หมอลำในสมัยก่อนไม่ได้มีการแสดงเป็นอาชีพอย่างปัจจุบันนี้ เป็นการแสดงแบบสมัครเล่นสำหรับผู้ที่มีใจรัก และลำในพิธีกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยในชุมชนนั้น ๆ ครั้นต่อมาหมอลำได้ยึดถือเป็นอาชีพไปแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่เจ้าภาพติดต่อมา
ประเภทของหมอลำ
หมอลำแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. หมอลำที่แสดงเพื่อความบันเทิง ได้แก่ หมอลำกลอน หมอลำเรื่อง และหมอลำเพลิน
2. หมอลำที่แสดงในพิธีกรรม ได้แก่ หมอลำผีฟ้า หมอลำส่อง หมอลำทรง หมอลำที่แสดงเพื่อความบันเทิง
๑. หมอลำกลอนเป็นการลำโต้กลอนสดกัน มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หมอลำประชัน" การลำมีผู้ลำเพียง ๒ คน อาจเป็นผู้ชายล้วน ๆ หรือผู้ชายกับผู้หญิงโต้ตอบกัน เนื้อหาจะกล่าวถึงวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ นิทานพื้นบ้านหรือคติธรรมแก่ชาวบ้าน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบคือแคน หมอลำกลอนยังแยกออกเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น
๑.๑ ลำคู่ เป็นการลำของหมอลำชาย-หญิงมาลำปะทะคารมกัน เครื่องดนตรีที่ใช้คือแคน เนื้อหาจะเกี่ยวกับการเมือง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หมอลำจะต้องมีความรู้ในเหตุการณ์ปัจจุบันเพื่อตอบคำถามของฝ่ายตรงข้ามให้ได้
๑.๒ ลำชิงชู้ การลำประเภทนี้ ใช้ผู้ลำสามคนเป็นหญิงหนึ่ง ชายสอบ โดยหมอลำฝ่ายชายจะอวดอ้างถึงความดี ความสามารถ ความร่ำรวยของตนเอง โดยยกตนเองให้เหนือคู่แข่งขันเพื่อให้ฝ่ายสาวคล้อยตามความคิดตนเอง การลำชิงชู้จะลำจนถึงรุ่งสว่าง ผู้หญิงอาจตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจก็ได้ การลำชนิดนี้ได้รับความนิยมอยู่เพียงระยะสั้น ๆ และเสื่อมความนิยมไป
๑.๓ ลำล่อง คือลำคนเดียว อาจเป็นการลำลาหรือพรรณนาถึงสิ่งต่าง ๆ ทำให้ผู้ฟังมองเห็นภาพพจน์คล้อยตามไปด้วย การลำล่องมักลำในเวลาใกล้เลิกการแสดง
๒. หมอลำเรื่อง หมอลำประเภทนี้จะลำเป็นเรื่องราว เรื่องที่ใช้แสดงมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องท้าวก่ำกาดำ นางแตงอ่อน จำปาสี่ต้น เป็นต้น หมอลำเรื่องแบ่งตามลักษณะการแสดงและการลำได้ ๕ ชนิด คือ
๒.๑ หมอลำพื้น เป็นการลำที่ใช้ผู้ลำเพียงคนเดียว แสดงเป็นตัวละครทุกตัวอุปกรณ์ในการแสดงคือ ผ้าขาวม้าหนึ่งผืน เรื่องที่ใช้ลำเป็นต้นว่า เรื่องสังข์สินชัย ขูลู-นางอั้ว จำปาสี่ต้น ปัจจุบันการแสดงหมอลำพื้นหาดูได้ยากจะปรากฎก็แต่เพียงหมอลำรุ่นเก่าเท่านั้น
๒.๒ หมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอน หมอลำชนิดนี้เป็นการแสดงที่ใช้ผู้แสดงจำนวนมาก บางคณะอาจจะมีจำนวนถึง ๒๐ คน กล่าวได้ว่าหมอลำหมู่น่าจะเป็นหมอลำที่พัฒนามาจากการแสดงหมอลำพื้นอีกต่อหนึ่ง โดยได้ปรับปรุงการลำจากการลำเพียงคนเดียวมาเป็นการลำหลายคน การแสดงหมอลำหมู่จะใช้ผู้แสดงสมมติบทบาทเป็นตัวละครตามเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน สำหรับดนตรีที่ใช้ ได้แก่แคน พิณ ซอ และกลอง ต่อมาหมอลำหมู่ได้นำเอาการแต่งกายและฉากแบบอย่างลิเกมาปรับปรุงการแสดงของตน ทำให้หมอลำหมู่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลิเกลาว"
๒.๓ หมอลำเพลิน เป็นหมอลำเรื่องที่พัฒนาการลำมาจากหมอลำหมู่ โดยได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบไปจากเพลงลูกทุ่ง เดิมจะลำเรื่อง "อีแก้วหน้าม้า" เพียงเรื่องเดียว ปัจจุบันหมอลำเพลินได้แสดงเรื่องอื่น ๆ ด้วย หมอลำเพลินจะมีลักษณะพิเศษที่สังเกตได้ดังนี้
ด้านการแต่งกาย หมอลำเพลินฝ่ายหญิงจะนิยมนุ่งผ้าถุง หรือกระโปรงสั้น ๆ เหนือเข่า ฝ่ายชายจะแต่งกายคล้ายลิเก และตัวละครเกือบทั้งหมด จะแต่งกายเหมือนกัน ลักษณะแต่งกายฝ่ายหญิงดังกล่าวทำให้มีผู้เรียกหมอลำเพลินว่า "หมอลำกกขาขาว"
ด้านดนตรี หมอลำเพลินจะใช้เครื่องดนตรีสากล เป็นต้นว่ากีต้าร์ เบส ออร์แกน กลองชุด เข้ามาผสมผสานกับ พิณ แคน ซอ กลอง ฉิ่ง และฉาบ
ด้านท่วงทำนองการลำ หมอลำเพลินจะมีท่วงทำนองในการลำที่รวดเร็วและกระชับมีจังหวะเร้าใจสนุกสนาน เรียกทำนองในการลำว่า "ทำนองลำเพลิน"
ด้านการแสดง หมอลำเพลินจะไม่มุ่งในเรื่องความสมจริงหรือการแสดงที่สมบทบาทเท่าใดนัก แต่จะเน้นการลำและฟ้อนเป็นพื้น ภายหลังได้นำเอาลักษณะการเต้นตามแบบอย่าง "หางเครื่อง" ของวงดนตรีลูกทุ่งมาแสดงก่อนการลำเรื่อง จุดเด่นของหมอลำเพลินคือเครื่องดนตรีและลีลาการแสดง
๒.๔ หมอลำกั๊บแก๊บหรือหมอลำกรับ หมอลำชนิดนี้เป็นการลำเพียงคนเดียวและใช้กรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะในการลำ โดยที่หมอลำจะถือกรับไว้ในมือทั้งสองข้างเวลาลำจะขยับกรับในมือเป็นจังหวะวาดลวดลายพร้อมกับลำไปด้วย เนื้อหาของกลอนลำอาจะเป็นคติธรรมทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการเอานิทานพื้นบ้านมาลำ เช่น เรื่องท้าวเสียวสวาสดิ์ ขูลู-นางอั้ว ผาแดง-นางไอ่ เป็นต้น หมอลำชนิดนี้มักจะแสดงในงานสมโภชหรืองานมงคล ปัจจุบันหมอลำกั๊บแก๊บหาดูได้ยาก
๒.๕ หมอลำแมงตับเต่า หมอลำชนิดนี้เป็นลำเรื่องที่เก่าแก่ สาเหตุที่เรียกชื่อเช่นนี้เข้าใจว่า น่าจะเรียกชื่อจากมีสร้อยเพลงตอนหนึ่งกล่าวถึงแมงตับเต่า
แมงตับเต่าแมงเม่าขี้หมา
จับอยู่ฝาแมงมุมแมงสาบ
จับซาบลาบแมงสาบแมงมุม
หมอลำตับเต่ามีทำนองในการลำอยู่ ๒ ทำนอง ได้แก่ ทำนองแมงตับเต่า ซึ่งเป็นทำนองเร็วมีจังหวะสั้นกระชับ ใช้ลำแทรกให้ตลกสนุกสนานและทำนองโอ่หนังสือ อันเป็นทำนองที่ช้ามีจังหวะเนิบช้ามักจะใช้ในการดำเนินเรื่องเหมาะสำหรับการลำที่โศกเศร้าและวิงวอน เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงคือ ซอ ปิ๊บ และแคน เรื่องที่ใช้แสดงมักจะเป็นนิทานพื้นบ้านหรือชาดกนอกนิบาต (สุพรรณ ทองคล้อย. ๒๕๒๔ : ๘๖-๘๘)
หมอลำที่แสดงในพิธีกรรม
หมอลำผีฟ้า เป็นการลำที่มีจุดมุ่งหมายสองประการคือ รักษาคนป่วยและพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ ทำนองลำ เป็นจังหวะสั้นบ้างยาวบ้าง ดนตรีที่ใช้ แคน และกลอง เนื้อหาของกลอนลำเป็นการกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ลำอัญเชิญให้มาประทับทรงในตัวหมอลำ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บอกวิธีรักษาผู้ป่วย ผู้ลำมีเพียงคนเดียว มีบริวารเป็นผู้ฟ้อนรำประกอบ ลีลาการฟ้อนรำไม่มีแบบแผนแน่นอน
ทำนองของกลอนลำ
ทำนองของกลอนลำ แบ่งได้เป็น ๔ ทำนองคือ
๑. ลำทางสั้น เป็นทำนองลำแบบเนื้อเต็มไม่มีเอื้อนเสียง ยกเว้นตอนขึ้นต้นความสั้นยาวของพยางค์ต่าง ๆ ในกลอนลำจะสม่ำเสมอกัน เนื้อหามักจะเป็นการโต้ตอบปัญหาทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ธรรมะ การเมือง การปกครอง
๒. ลำทางยาว เดิมเรียกกลอนอ่านหนังสือ เป็นทำนองลำที่เอื้อนเสียงยาว จังหวะลีลาช้า ใช้สำหรับลำกลอนลา เนื้อหาเป็นพวกนิทานพื้นบ้าน รำพันถึงความรัก ความอาลัย เศร้าโศก ผิดหวัง สมหวัง
๓. ลำเต้ย เป็นกลอนลำที่มีทำนองสั้น กระฉับกระเฉง ไม่เอื้อนเสียง ทำนองลำแสดงอารมณ์รื่นเริงสนุกสนาน ส่วนใหญ่ใช้ในการลำเกี้ยวพาราสี และเสนอสาระที่ต้องการเฉพาะเรื่อง ทำนองมีหลายทำนอง คือ เต้ยโขง เต้ยพม่า เต้ยธรรมดา และเต้ยหัวโนนตาล
๔. ลำเพลิน เป็นกลอนลำที่มีทำนอง จังหวะเร็ว สนุกสนาน ไม่มีการเอื้อนเสียง ให้ความครึกครื้นเข้ากับลีลาการเต้น ทำนองได้รับอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากล
หมอลำต้องเลือกทำนองการลำให้สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องด้วย เพื่อให้กลอนลำมีความกลมกลืนระหว่างทำนองลำและเนื้อหา อันจะส่งผลให้กลอนลำมีความไพเราะ ก่อให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์และอารมณ์คล้อยตามหมอลำไปด้วย
การลำของหมอลำแต่ละคน อาจจะมีสำเนียงการลำ (วาดลำ) ที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น สำเนียงการลำ (วาดลำ) ที่นิยมกันมากได้แก่ สำเนียงการลำจังหวัดอุบลราชธานี (วาดลำอุบล) เป็นสำเนียงการลำที่ค่อนข้างช้า เนิบนาบและสำเนียงการลำของจังหวัดขอนแก่น (วาดลำขอนแก่น) เป็นสำเนียงการลำที่ค่อนข้างกระชับ รวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีสำเนียงการลำของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกันออกไปเป็นสำเนียงเฉพาะถิ่น เช่น สำเนียงลำของจังหวัดกาฬสินธุ์ (วาดลำกาฬสินธุ์)สำเนียงการลำอำเภอภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ(วาดลำภูเขียว)สำเนียงการลำของอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ (วาดพุทไธสง) เป็นต้น สำเนียงการลำของหมอลำเหล่านี้ล้วนมีลีลาในการเล่นระดับเสียง ลูกคอ และจังหวะในการลำที่เป็นแบบเฉพาะท้องถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น