เพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็ก วิวัฒนาการมาจากการเล่านิทานหรือนิยายให้เด็กฟังในเวลานอนเหตุที่ต้องเล่าเป็นเพราะสัญชาตญาณของมนุษย์หรือสัตว์ที่สร้างมาให้มีเพื่อนไม่อาจอยู่ตามลำพังคนเดียวได้ การเล่านิทานให้เด็กฟังในเวลานอนนั้นก็เพื่อให้เด็กอบอุ่นและรู้ว่าตนนอนนั้นไม่ได้อยู่คนเดียว แต่มีคนคอยอยู่เป็นเพื่อนเอาใจทะนุถนอมอยู่ข้าง ๆ ด้วย เด็กจะได้รู้สึกอบอุ่นหลับสนิทไปพร้อมกับความสุข
เพลงกล่อมเด็ก เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีมานาน แบ่งย่อย ๆ เป็นหลายประเภท คือ
เพลงปลอบเด็ก
เพลงกล่อมเด็ก
เพลงขู่เด็ก
ความสำคัญของเพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็กเป็นการกล่อมเด็กให้เด็กนอนหลับหรือหายกวนโยเย ทำให้เด็กเกิดความอบอุ่น อารมณ์หายขุ่นมัวได้ และยังช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยหน่ายของผู้เลี้ยงอีกด้วย
ลักษณะฉันทลักษณ์ของเพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็กมีลักษณะคำประพันธุ์ประเภท ร่าย มีจำนวนคำ ๕-๑๕ คำขึ้นไปมีสัมผัสสร้อยเชื่อมกันไปโดยตลอด แบบร่ายของทางภาคกลาง ความยาวของเพลงกล่อมเด็กกำหนดแน่นอนไม่ได้ บางบทสั้นบางบทยาว ขึ้นอยู่กับเนื้อความที่ผู้ร้องจะถ่ายทอดหรือบรรยายออกมา คำขึ้นต้นของเพลงกล่อมเด็กจะขึ้นโดยใช้คำ "อือ" ขับลำนำก่อน หรือขึ้นต้นด้วยคำว่า "นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อม" หรือ "นอนสาเด้อหล่าหลับตาแม่สิก่อม"
เนื้อหาของเพลงกล่อมเด็ก
เนื้อหาของเพลงกล่อมเด็ก แบ่งได้เป็น ๗ ประเภท คือ
1. กล่าวถึงวรรณกรรม หรือนิทานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังตัวอย่าง
นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อม
นอนอู่ไหมแม่ไผบ่ฆ่า
นอนอู่ผ้าบ่มีไผตี
ทิ่มใส่อู่ให้เจ้าอยู่เจ้านอน
ทิ่มใส่หมอนให้เจ้านอนอ้วยซ้วย
เพิ่นมาขายกล้วยซิซื้อให้กิน
อินทราพร้อมเทวดาซูซ่อย
ขอให้ลูกอ่อนน้อยนอนแล้วอยู่สบาย
(อ้วยซ้วย = นิ่ง ๆ สงบๆ ซ่วย = ช่วย ทิ่ม = ทิ้ง)
2. เนื้อหาเกี่ยวกับความรักของพ่อแม่มีต่อลูก ดังตัวอย่าง
เอ่อ เออ เอ้อ เออ
นอนสาหล่า แม่ไปนาเอาปามาต้อน
ให้เจ้านอนอยู่สุขสำบาย
ยุงบ่ให้กายไฮบ่ให้ไก้
ตื่นแล้วสิพาไปเบิ่งหนัง
เอ่อ เออ เอ้อ เออๆๆๆ
(กาย = ใกล้ เบิ่ง = ดู)
นอนสาหล่า
นอนสาหล่า หลับตาแม่สิก่อม
ให้เจ้านอนอู่แก้ว หลับแล้วแม่ซิกวย
เอ้อ…เออ…เอ้อ เออ…เอ้อ….เออ
(กวย = ไกว ก่อม = กล่อม)
3. เนื้อหาที่บันทึกชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคม เช่น การประกอบอาชีพ ดังตัวอย่าง
นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อม
อีพ่อหม่อมเขาไปขายไหม
ลงไปไทยขายไหมขายหลอด
ขายไปฮอดเมืองนอกคอกนา
(ฮอด = ถึง)
อือ หือ อือ อื้อ อือ
นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อม
อ่อ อ่อม อ้อย แมวน้อยสิตอดตา
แม่ไปไฮ่ปิ้งไก่มาหา
แม่ไปนาปิ้งปามาป้อน
แม่ไปเลี้ยงม้อนเก็บมอนมาส่ง
เจ้าอยู่บ้านนอนท่าแม่สิมา
อือ หือ ฮือ ฮือ ฮือ
(ปา = ปลา ไฮ่ = ไร่)
นอนสาหล่า
นอนสาหล่าหลับตาสามิเยอ แม่ไปไฮ่หมกไข่มาหา
แม่ไปนาหมกปลามาป้อน แม่เลี้ยงหม่อนอยู่ป่าสวนมอน
นอนตะแคงอยู่กกไม้เนิ้ง ฟังเสียงเซิ้งน้าบ่าวเซียงลามาจับอึ่ง
จับอึ่งแล้วเลี้ยงงัวเลี้ยงควาย ควายตูเสียอีแม่ตูด่า
เต้นเข้าป่าเห็นนกแจนแวน
(เนิ้ง = เอน)
นอนสาเด้อหล่า
นอนสาเด้อหล่า ท้าวก๋าน่อยอ่อน
ตั้งแต่ญางอ้อนแอ่น เดิ๋นเหล่นหยอกกั๋น
คั่นกับจากไฮ่ แม่กะเอิ้นขวนมา
กับจากนา แม่กะเอิ้นขวนเต้า
เอิ้นเอ๋าขวนอึดเข่ามาเฮี้ยนเฮี้ยงฟัง เอิ้นเอ๋าขวนลูกเต้ามาเข่ายูคิ้ง
คั้นเทียวทงกะถือแดขวนอ๋อน เทียวทางด๋อนกะถือลมขวนล่ม
(ญาง = เดิน ยูคิ้ง = อยู่กับตัว เอิ้น = เรียก ถืก = ถูก)
4. เนื้อหาที่เกี่ยวกับคำสั่งสอน เป็นการสั่งสอน เช่นการคบเพื่อน การเรียน ดังตัวอย่าง
การคบเพื่อน
ให้เจ้าฟังคำมารดาทุกเงื่อน
เจ้าอย่าได้คบเพื่อนคนพาลเกเร
มันจักเพนิสัยของเจ้า
คือจังปลาเน่าบายแล้วเหม็นมือ
(เพ = พัง บาย = จับ)
การเรียน
โอนอลูกเอย เจ้ายังหนุ่มยังแน่น
ให้เจ้าแก่นทางเรียน
ให้เจ้าเพียรศึกษา
ขุนหาวิชาไว้
5. เนื้อหาเกี่ยวกับประเพณี เช่น ประเพณีบวชนาค ประเพณีลงข่วง ดังตัวอย่าง
นอนสาอำคาพ่อกล่อม
เจ้าใหญ่แล้วพ่อให้บวชจำศีล
ทำบุญหาส่งกุศลนำกัน
นอนสาหล่าหลับตาอย่าได้แอ่ว
แนวโตมันทั่งเป็นกำพร้าลุงป้ากะบ่มี
แม่สิลงเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าบ่าว
แม่สิหาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง
(แอ่ว = กวน เว้า = พูด, คุย แนวโต = เชื้อแถว)
๖. เนื้อหาเกี่ยวกับการล้อเลียนเสียดสี เช่น ล้อเลียนนายอำเภอ ความไม่สำรวม
ล้อเลียนนายอำเภอ
นอนสาเด้อหลับตาสาเด้อ
นายอำเภอตีเบอร์หัวล้าน
เจ้าบ่ย่านเพิ่นสิมาตอนปี
ความไม่สำรวม
แต่ช้าแต่เขาแห่ยายมา
นกสักดามันฮ้องจ้อยจ้อย
เบิ่งจัวน้อยแล่นออกมาจากวัด
ลมบ้าพัดสบงหลุดจากโต
โอโอ้โอ หัวจัวโตงเตง
อีตาเก่งหัวร่อฮ่าฮ่า
จังถูกครูบาเพิ่นมาไล่ตี
นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อม
นอนอ้อมล้อมในผ้าแม่สิกวย
แม่ไปไฮ่หมกไข่มาหา
แม่ไปนาหมกปามาต้อน
แม่เลี้ยงม้อนนอนอู่สายไหม
นอนอู่ไหมสายเดียวโต้นเต้น
โต้นตีเต้นหมากม่วงกะเสน
เอาไปเพลเจ้าหัวบ่อยาก
เอาไปฝากจัวน้อยลักกิน
(จัวน้อย = เณรน้อย โต = ตัว ต้อน = ฝาก เพล = ถวายพรมื้อกลางวัน)
๗. เนื้อหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติ
ดวงอาทิตย์
ตาเว็นเอยขึ้นสีแดงแดง
ฮอดยามแลงส่งแสงชูมื้อ
ยามมื้อเซ้าตาเว็นเจ้างาม
ดวงเดือนดวงดาว
อีเกิ้งเดือนดาว
ผู้สาวตำข้าว
ผู้เถ่าไล่ไก่
ผู้ใหญ่สีซอ
บักกอลอแขวนคอควายน้อย
(กอลอ = ที่แขวนคอควาย)
คุณค่าของเพลงกล่อมเด็ก
๑. เพื่อให้เด็กได้รับความเพลิดเพลินใจ จิตใจสบาย อบอุ่น ไม่วิตกกังวล ไม่กวนพ่อแม่ เพราะในเนื้อเพลงได้ใช้คำเรียกลูกด้วยถ้วยคำที่อ่อนโยน ผูกพัน เช่น ลูกแก้ว ลูกน้อย ทองคำ คำแพง ดังตัวอย่าง
นอนสาเด้อทองคำลูกแม่ นอนแต่เช้าเจ้าอย่าติงคิง
นอนจริงจริงหลับตาจ้อยจ้อย ลูกอ่อนน้อยหลับแล้วแม่ซิกวย
๒. เพื่อกล่อมเกลานิสัยเด็ก ในเนื้อเรื่องจะแทรกการสอนไปด้วย เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น
โอนอลูกเอย เจ้ายังหนุ่มยังแน่น
ให้เจ้าแก่นทางเรียน ให้เจ้าเพียรศึกษา
ขนหาวิชาไว้ ให้เจ้าเก็บเจ้ากำ
คำเว้าของพ่อแม่ ให้เห็นแก่พี่แก่น้อง
คนจั่งซิยกย่องสรรเสริญ อือ..ฮือ…ฮือ
1. สะท้อนให้เห็นสภาพของวัฒนธรรมในสังคมนั้น ๆ
1.1 อาชีพของชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น
เจ้าหล้าน้อยได้นอนอู่ทองคำ
เขาเอามาจำนำแต่ปางพ่อไปขายช้าง
มีทั้งต้างก้องขาดำให้เจ้าใส่
ทั้งซิ่นไหมหมี่เอื้อให้นางเอ้บาดใหญ่สูง
1.2 ประเพณีปรากฎในเพลง ตัวอย่างเช่น
หลับสาหล้าหลับตาแม่สิกล่อม
แม่เป็นแม่ฮ้างผัวบ่มีคนหมิ่น
เฮือนบ่มีพ่อย้าวชาวบ้านเพิ่นหยัน
บัดนี้แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว
หลอนเทือได้พ่อน้ามาตุ้มให้ใหญ่สูง
1.3 ค่านิยมไม่ชอบคนจน ตัวอย่างเช่น
ยามเดือนหกฝนตกกบเขียดฮ้อง
โฮมหนองนาพ่อเฒ่าจ่า
ฝูงหมู่ปลาดุกเดิดกั้งคะโยงเต้นตื่นแซว
อยากให้ลูกได้กินบ่แพ้แล้วบ่มีไผสิไปหาขั่ว
สิไปเที่ยวขอพี่น้องชาวบ้านก็บ่ทาน
อยากกินซิ้นบ่มีผู้ไปหา
อยากกินปลาบ่มีผู้เอามาฝาก
หากสิเที่ยวขอหมู่ชาติเชื้อลุงป้าเพิ่นก็ซัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น