ผญา
ความหมายของผญา
มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม และนักมานุษยวิทยาหลายท่าน ได้กล่าวถึงความหมายของผญา พอสรุปได้ดังนี้
จารุบุตร เรืองสุวรรณ (๒๕๒๐ : ๕๘) ได้ให้ความหมายของผญาไว้ว่า ผญา (ผะหญา) เป็นคำนาม แปลว่า ปัญญา ปรัชญา ความฉลาด ความรอบรู้ คำพูดที่เป็นภาษิตที่มีความหมายอยู่ในเชิงเปรียบเทียบ ประกอบด้วยถ้อยคำอันหลักแหลมลึกซึ้ง คำกลอนผญา อาจจะเป็นกลอนพื้นบ้านที่บ่าวสาวผูกขึ้นมาโต้ตอบกันเป็นการเกี้ยวพาราสี แสดงความรักต่อกันหรือประชดประชัน เสียดสี โดยไม่พูดกันตรง ๆ อาจเป็นคำพูดเลียบเคียงกระทบกระเทียบเปรียบเปรยกัน และอาจว่ากันเป็นกลอนสดก็มีมาก
จารุวรรณ ธรรมวัตร (๒๕๒๖ : ๑) ได้อธิบายความหมายของผญาว่า ผญาตามนัยแห่งนิรุกติศาสตร์ ผญา ตรงกับคำว่า "ปัญญา" ในภาษาบาลีและ "ปรัชญา" ในภาษาสันสกฤต ทั้งนี้เนื่องจาก ภาษาอีสานใช้ "ผ" แทน "ปร" และ "ปล" ในภาษากลาง เช่น
เปรต อีสานใช้ เผต ปราบ อีสานใช้ ผาบ
ประโยชน์ " ผะโยชน์ ประเทศ " ผะเทศ
แปลก " แผก เปลี่ยน " เผี่ยน
ดังนั้น ผญา จึงแปลว่า ปัญญา หรือ ความรู้ ซึ่งในทัศนะของชาวอีสาน ถือว่า ผญา เป็นแนวทางนำไปสู่ความสำเร็จ
ประเทือง คล้ายสุบรรณ์ (๒๕๒๘ : ๓) ได้อธิบายความหมายของผญาพอสรุปได้ว่า ผญา คือ สำนวนการพูดอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่เป็นคำคมให้แง่คิด เป็นคติสอนใจคนให้ประพฤติดีเป็นที่ยอมรับของสังคม ผญา เป็นคำพูดที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบใช้คำอุปมาอุปไมย มีความหมายชัดเจน หลักแหลมลึกซึ้ง คำผญาใช้พูดในโอกาสต่าง ๆ กัน เช่น หนุ่ม - สาว ผู้ใหญ่ - ผู้น้อย เป็นต้น
ปรีชา พิณทอง (๒๕๓๒ : ๕๒๘) ได้ให้ความหมายของผญาว่า ผญา เป็นคำนาม หมายถึง ปัญญา ปรัชญา ความฉลาด คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง เช่น เงินเต็มพาบ่ท่อผญาเต็มปูม (ท้อง) หมายความว่ามีเงินมากมายก็สู้มีผญาอยู่เต็มท้องไม่ได้
จะเห็นได้ว่า ความหมายของผญา ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะแตกต่างกันออกไปบ้างเฉพาะในเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา แต่โดยความหมายจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน ซึ่งสรุปได้ว่า ผญา หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่แสดงภูมิปัญญาของผู้พูด ที่ฉลาดหลักแหลม คมคาย มีปฏิภาณไหวพริบ โดยใช้ถ้อยคำภาษาที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ เป็นคติเตือนใจ คำคม คำพังเพย คำอวยพร และคำเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ผญาตรงกับภาษากลางว่าปัญญา ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ของผู้พูด ตามผญาบทหนึ่งที่กล่าวว่า "มีเงินเต็มพา บ่ท่อมีผญาเต็มปูม" และในสมัยโบราณชาวอีสานเรียกคนที่มีปัญญาว่า "คนมีผญา"
ความเป็นมาของผญา
ภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมฉันใด ผญาก็จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาของชาวอีสานฉันนั้น ชาวอีสานได้สืบสานวัฒนธรรมด้านผญาจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนสาเหตุความเป็นมาของผญานั้นไม่มีหลักฐานชัดเจนนัก แต่มีผู้ทรงความรู้ทางวัฒนธรรมอีสานบางท่าน ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ความเป็นมาของผญา น่าจะมาจากสาเหตุ ๓ ประการ พอสรุปได้ดังนี้
๑. เนื่องมาจากศาสนา ชาวอีสานส่วนใหญ่นับถือศาสนามาช้านาน คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้คนประพฤติชอบให้ประกอบกรรมในสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นความต้องการของสังคม นอกจากชาวอีสานจะมีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักแล้ว ผู้ใหญ่ในฐานะผู้มีประสบการณ์และใกล้ชิดกับสมาชิกของสังคมก็ย่อมต้องการให้สมาชิกของสังคมเป็นคนดี จึงมีการสั่งสอนต่อกันต่าง ๆ มาโดยคำสอนนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนา คำสั่งสอนอาจจะเริ่มต้นด้วยคำกล่าวร้อยแก้วทั่ว ๆ ไป ต่อมาอาจจะกลายเป็นคำคล้องจอง เช่น "เด็กน้อยบ่ฟังความพ่อความแม่ ผีแก่เข้าหม้อนฮก" ลักษณะเช่นนี้ เป็นผญาประเภทหนึ่ง เรียกผญาภาษิต
๒. เนื่องมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อถือ และระบบสังคมของชาวอีสานมาแต่โบราณกาล ชาวอีสานมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง เช่น ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ การประกอบประเพณีในแต่ละเดือน เช่น บุญมหาชาติ บุญสงกรานต์ บุญบั้งไฟ บุญเข้าพรรษา ฯลฯ หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน แสดงออกซึ่งความพออกพอใจซึ่งกันและกัน หรืออาจเป็นการพูดกันเล่น ๆ หรือพูดหยอกล้อกันเพื่อความสนุกสนาน และบางทีพูดเพื่อประชันกัน เป็นการอวดความสามารถแต่ละฝ่าย ลักษณะการพูดเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดผญาเกี้ยวสาวได้ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
๓. เนื่องมาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ตามประวัติศาสตร์และตามประวัติวรรณคดีไทย ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่โบราณ สังเกตได้จากวรรณคดีไทยลายลักษณ์ในสมัยสุโขทัย เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แม้จะเป็นวรรณคดีร้อยแก้ว แต่ก็ยังใช้คำสัมผัสคล้องจองกัน เช่น ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไพร่ฟ้าหน้าใส เป็นต้น ชาวอีสานโบราณก็เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนเช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากคนโบราณเมื่อพูดกัน บางครั้งจะพูดคำคล้องจองกัน คนเฒ่าคนชราเมื่อจะสั่งสอนลูกหลานหรือการให้ศีลให้พรกัน ก็มักจะพูดเป็นคำกลอน เช่น นาดีถามหาข้าวปลูก ลูกดีถามหาพ่อแม่ หรือ ขอให้เจ้ายืนยาวมั่นพันปีอย่าฮู้ป่วย ไปทางใดขอให้รวยแก้วคำล้านค่าแสน อย่าได้ทุกข์ยากแค้นสรรพสิ่งแนวใด ให้มีชัย หมู่มารอย่าได้เวียนมาใกล้ นอกจากนั้นวรรณคดีของชาวอีสานจะมีรูปแบบคำประพันธ์เป็นร้อยกรองเป็นส่วนมาก เช่น ท้าวก่ำกาดำ สังข์ศิลป์ไชย จำปาสี่ต้น ขูลูนางอั้ว เป็น เมื่อชาวอีสานมีลักษณะเช่นนี้แล้ว อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดคำผญาขึ้นได้ ดังตัวอย่าง
- เฮ็ดดีผีปันนาให้กิน
ความหมาย คนทำความดี จะได้รับผลตอบแทนที่ดี
- อยากฮู้สาวงามให้ถามพระในวัด
อยากฮู้พระเคร่งครัดให้ถามญาติถามโยม
ความหมาย อยากได้ข้อมูลที่ถูกต้องให้ถามผู้ใกล้ชิด
- บุญให้หาบ บาปให้หิ้ว
ความหมาย ทำบุญต้องทำมาก ๆ ทำบาปทำแต่เพียงน้อย ๆ
๔. เนื่องมาจากวรรณกรรม ชาวอีสานมีประเพณีอ่านหนังสือผูก ในโอกาสงานบุญต่าง ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น หนังสือที่นำมาอ่านจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีผู้จารไว้ในใบลาน สำนวนภาษาคล้องจองกัน เนื้อหาในวรรณกรรมนอกจากจะทำให้ผู้ฟังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ยังได้รับคติสอนใจ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติด้วย ดังนั้น ผญาส่วนหนึ่งจึงได้มาจากวรรณกรรมท้องถิ่น ดังตัวอย่าง
- เป็ดไก่ยังฮู้หาเหยื่อป้อนคาบชีวังโต
ส่วนว่าเฮาเป็นคนอย่าสิดูดายดู้
(กาพย์ย่าสอนหลาน)
ความหมาย เป็ดไก่ยังมีความสามารถหาอาหารเลี้ยงตนได้ เพราะฉะนั้นคนอย่านิ่งดูดาย
- เพิ่นบ่เอิ้นอย่าขาน เพิ่นบ่วานอย่าซ่อย มักซ่อยแท้ให้พิจารณา
(เสียวสวาสดิ์)
ความหมาย ถ้าเขาไม่วานอย่าทำ ถ้าอยากทำให้พิจารณาให้ดี
- ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ
(กาพย์ปู่สอนหลาน)
ความหมาย พี่น้องกันก็มีจิตใจไม่เหมือนกัน
การจำแนกประเภทของผญา
การแบ่งประเภทของผญาในที่นี้ จะแบ่งตามลักษณะเนื้อหาและโอกาสที่ใช้ ซึ่งมีผู้รู้หลายท่าน ได้แบ่งประเภทของผญาออกเป็นประเภทต่าง ๆ หลายประเภท แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น
ประเทือง คล้ายสุบรรณ (๒๕๒๘ : ๗๖-๘๓) ได้แบ่งออกเป็น ๕ ประเภทดังนี้
1. ผญาภาษิต หรือ ผญาก้อม ทำนองเดียวกันกับสุภาษิตของภาคกลาง
2. โตงโตยหรือยาบสร้อย บางถิ่นเรียกตาบต้วย หรือยาบส้วง เทียบได้กับคำพังเพยภาคกลาง
3. ผญาย่อย เทียบได้กับสำนวนหรือคำคมของภาคกลาง
4. ผญาเครือ หรือ ผญาเกี้ยวสาวหรือคำหยอกสาว
5. ผญาอวยพร ใช้อวยพรในโอกาสต่าง ๆ เช่น อวยพรในวันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ หรืออวยพรทั่ว ๆ ไป
จารุวรรณ ธรรมวัตร (ม.ป.ป. : ๔๒) ได้แบ่งผญาสำนวนพูดออกเป็น ๓ ประเภท คือ
1. ผญาภาษิต เรียก ผญาก้อม
2. ผญาเกี้ยว เรียก ผญาเครือ
3. ผญาอวยพร เรียก ผญาให้พร
จารุบุตร เรืองสุวรรณ (๒๕๒๐ : ๑๗๙) ได้แบ่งผญาออกเป็น ๒ ประเภท คือ
1. ผญาภาษิต เป็นถ้อยคำแบบฉันทลักษณ์ มีคติเตือนใจลึกซึ้งแฝงด้วยคติธรรม
2. ผญาหย่อย เป็นคำพูดเปรียบเปรย เย้าแหย่ ขำขัน สนุกสนาน แต่แฝงคำคมเป็นคติอยู่บ้าง
จะเห็นได้ว่า การแบ่งประเภทของผญาตามเนื้อหาและโอกาสที่ใช้ดังกล่าว มีลักษณะคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก โดยสรุปแล้วผญาแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
1. ผญาภาษิต
2. ผญาเกี้ยว
3. ผญาอวยพร
4. ผญาโตงโตย
๑. ผญาภาษิต คือคำกล่าวเพื่อสั่งสอน แนะนำ ให้ผู้ได้ยินได้ฟัง ได้จดจำ และนำไปปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร เป็นคติเตือนใจ ใช้เป็นเครื่องมือเหนี่ยวให้คนประพฤติดี ประพฤติชอบ ไม่ลืมตน ส่วนมากเป็นคำกล่าวอิงหลักธรรมทางศาสนา แฝงไปด้วยคติธรรมและจารีตประเพณี โดยใช้ถ้อยคำไพเราะ สละสลวย รัดกุม บางบทสั้น ๆ จึงเรียกผญาก้อม บางบทอาจจะยาว ผญาภาษิตมีความหมายโดยตรงบ้าง และเป็นความเปรียบอุปมาอุปไมยให้ผู้ฟังตีความ ใช้ความหมายแฝงบ้าง ทำนองเดียวกันกับสุภาษิตภาคกลาง (ปรีชา พิณทอง ๒๕๓๗) ดังตัวอย่าง
- แหวนดีย้อนหัว ผัวดีย้อนเมีย
ความหมาย แหวนมีค่าเพราะหัว สามีได้ดีเพราะภรรยาเสริมส่ง
- ตกหมู่ขุนซ่อยขุนเกือม้า ตกหมู่ข้าซ่อยข้าพายโซน
ตกหมู่โจรซ่อยโจรหามไหเหล้า
ความหมาย ไปอยู่กับใครเจ้าของบ้านทำอะไรก็ต้องช่วยทำในสิ่งนั้น ต้องรู้จักปรับตัว
- หมู่เฮามาเพราะเหล้ายามี หมู่เฮาหนีเพราะเหล้ายาเหมิด
ความหมาย เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก
๒. ผญาเกี้ยว คือ คำกล่าวของหนุ่มสาว ที่ใช้พูดจาเกี้ยวพาราสี โต้ตอบกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในงานเทศกาล หรือการทำงาน ลงข่วงปั่นฝ้าย เกี่ยวข้าวหรือตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง มีลักษณะคล้ายเพลงยาวแต่เป็นเพลงยาวที่โต้ตอบสลับกันในทันทีทันใด ผญาเกี้ยวสาวเป็นร้อยกรองที่ใช้ปฏิภาณโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำอ่อนหวานละเมียดละไมไพเราะเปรียบเปรยได้ซาบซึ้งกินใจ การพูดโต้ตอบกันเช่นนี้ของหนุ่มสาว เรียกว่า จ่ายผญา เป็นลักษณะเดียวกันกับการแอ่วสาวหรืออู้สาวของชาวล้านนา ซึ่งชาวล้านนาเรียกบทสนทนานี้ว่า "คำอู้บ่าวอู้สาว" หรือ คำเครือ หรือ "คำค่าวคำเครือ" (ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ๒๕๓๒ : ๑๘๗) ดังตัวอย่าง
หนุ่ม อ้ายอยากถามข่าวอ้อยปล้องถี่ลำงาม ว่ามีเครือหนามเกี่ยวพันหรือยังน้อง
ความหมาย พี่อยากถามข่าวคราวว่า น้องมีคนรักหรือยัง
สาว น้องนี้ปลอดอ้อยซ้อย เสมออ้อยกลางกอ
กาบบ่ห่อหน่อน้อยบ่แซม ชู้บ่แอ้มผัวน้องบ่มี อ้ายเอย
ย้านแต่อ้ายนั่นแหล่ว คือสิมีเครือฝั้นพันธนังน้าวจ่อง
ความหมาย น้องนี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือนต้นอ้อยอยู่กลางกออ้อย สามีก็ไม่มีคนรัก
ก็ไม่มี กลัวแต่พี่นั่นแหละคงจะมีพันธะแล้ว
หนุ่ม บ่มีดอกน้องเอย ปลอดอ้อยซ้อย เสมอดั่งตองตาย
นับแต่เป็นชายมาบ่มีหญิงซ้อนพอสองจักเทื่อ น้องบ่ซ้อนเครืออ้ายบ่มี
ความหมาย พี่ก็ไม่มี ยังไม่เคยมีภรรยาเลย ถ้าน้องไม่เป็นภรรยาพี่ พี่ก็ไม่มีใคร
สาว น้องนี้ปลอดอ้อยซ้อยเสมอดั่งตองจริง ผัดแต่เป็นหญิงมาบ่มีชายซ้อน
ความหมาย น้องนี้บริสุทธิ์จริง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงมาไม่เคยมีสามีเลย
๓. ผญาอวยพร คือ คำกล่าวให้พรในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน เป็นการพูดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสิริมงคล ให้กำลังใจ ให้ความสบายใจ และความชื่นใจ แก่ผู้ฟังหรือผู้รับพร ถ้อยคำที่ใช้อาจจะเป็นผญาบทสั้น ๆ กะทัดรัด หรืออาจเป็นผญาบทยาว ๆ ก็ได้ ดังตัวอย่าง
- ให้เจ้าโย ๆ ยิ่งมีทุกสิ่งในเฮือนซาน สุขสำราญบ่มีโศก โรคฮ้ายอย่ามาพาโล อายุ
วรรณโณ สุขัง พลัง
ความหมาย ขอให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น มีแต่ความสุขปราศจากความทุกข์ ให้มีอายุวรรณะ สุขะ
พละ
- ให้เจ้าพ้นโศกโศกา ให้เจ้ามีสุขาอย่าเดือดร้อน ความสุขมีเพียงพอบ่น้อย
เช้าแลงค่ำค้อยให้เจ้าอยู่สวัสดี
ความหมาย ให้พ้นจากโรคภัย มีความสุขความเจริญตลอดไป
- ขอให้เจ้าไปดีมีไชย ขึ้นโคกกว้างให้ตีนต่อยหอยคำ คันผู้สาวไปนำให้ได้ขี่คอ
ตางซ้าง
ความหมาย ขอให้การเดินทางประสบแต่ความโชคดีตลอดไป
๔. ผญาโตงโตยหรือยาบสร้อย บางถิ่นเรียกตวบต้อยหรือยาบส้วงคือคำกล่าวเพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์หรือสถานการณ์เป็นข้อความเชิงอุปมาอุปไมยที่คมคาย ลึกซึ้ง ชวนให้คิด มีลักษณะทำนองเดียวกันกับผญาภาษิต ต่างกันที่ผญาโตงโตยไม่ได้เป็นคำสอนโดยตรง เพียงแต่เป็นคำเปรย ๆ เตือนสติหรือให้ข้อคิดเท่านั้น คำผญาประเภทนี้อาจเป็นคำกลอนคล้องจองกัน อาจเป็นวลีหรือเป็นประโยคก็ได้
คำโตงโตย เป็นกลุ่มคำที่มีความหมายพิเศษ หรือพูดให้ตีความ บางครั้งอาจจะใช้ความหมายโดยนัยของคำ คำโตงโตยอาจจะเปรียบได้กับ "คำพังเพย" ของภาคกลาง
ตัวอย่าง
- จ้ำแจ่วเก่า - กินน้ำพริกถ้วยเก่า ใช้ในความหมายว่า "กลับมานิยมของเก่า"
- ขี้บ่แก้งก้น - ขี้ไม่เช็ดก้น ใช้ในความหมายว่า "ทำอะไรไม่เรียบร้อย"
(แก้ง - เช็ด ชำระ)
- เว้าก่อนคิด - พูดก่อนคิด ใช้ในความหมายว่า "พูดจาไม่คิดก่อน"
(เว้า - พูด)
- แข้เหลือหนอง - จระเข้ใหญ่เกินหนอง ใช้ในความหมายว่า "วางโตเกินความ
เป็นจริง"
- เจ้าบ่หล่นขวั้น - พูดไม่ขาดจากขั้ว ใช้ในความหมายว่า "พูดไม่พ้นตัว"
(เว้า - พูด, ขวั้น - ขั้วผลไม้ที่ติดกับกิ่ง)
- ข่มเพิ่น ยอโต - ข่มเขา แต่ยกตนเอง ใช้ในความหมายว่า "พูดจาข่มผู้อื่น
แต่ยกยอตนเอง"
(เพิ่น - เขา คนอื่น, ยอ - เยินยอ, โต - ตนเอง)
- ผีปั้นหลุดมือ - ผีปั้นคนก่อนเกิดแต่ทำหล่น ใช้ในความหมายว่า "รูปร่างไม่
สวยงาม"
- อยู่ดีกินแซบ - อยู่ดีกินอร่อย ใช้ในความหมายว่า "ร่างกายแข็งแรงมีความสุข"
(แซบ - อร่อย)
- อยู่ดีมีเฮง - อยู่ดีร่างกายแข็งแรง ใช้ในความหมายว่า "มีความสุขสบายดี"
(แฮง-แรง, มีแฮง-แข็งแรง สุขสบาย)
- เกี่ยวหญ้ามุงป่า - เกี่ยวหญ้ามุงป่า ใช้ในความหมายว่า "ทำในสิ่งที่ไม่มี
ประโยชน์"
- เนื้อน้อยของบาง - เนื้อน้อยสิ่งของเล็ก ใช้ในความหมายว่า "ของมีค่าน้อยไม่มี
ใครต้องการ"
- ชิ้นต่อนหนา ปลาต่อนใหญ่ - เนื้อก้อนใหญ่ ปลาชิ้นใหญ่ ใช้ในความหมายว่า
"ของมีค่ามากคนต้องการ"
(ชิ้น - เนื้อ, ต่อน - ก้อน)
- ฮ้ายก่อนตีลุน - ดูก่อนแล้วใจดีภายหลัง ใช้ในความหมายว่า "ตบหัวแล้วลูบหลัง"
(ฮ้าย-ร้าย, ลุน-ภายหลัง)
- อยู่ดีเสมอใช้ -ร่างกายแข็งแรงแต่ป่วยไข้ ใช้ในความหมายว่า "หน้าชื่นอกตรม"
(อยู่ดี-สุขสบาย)
- ม้อนนอนบ่เกือ - ตัวไหมนอนไม่เลี้ยงอาหาร ใช้ในความหมายว่า "คนทำดี
ไม่ชมเชย)
(ม้อน - ตัวไหม, เกือ-เลี้ยง ขุนอาหาร)
- เฮือนบ่เป็นซาน - ไม่เป็นบ้านเป็นเรือน ใช้ในความหมายว่า "ครอบครัวไม่เป็น
ระเบียบ"
(เฮือน - เรือน, ซาน - ซานบ้าน)
- พ่อฮ้างเครือ - พ่อหม้ายมีเครือ (เถาวัลย์) ใช้ในความหมายว่า "พ่อหม้ายลูกติด"
(ฮ้าง - หย่าร้าง)
- กินน้ำขะลำต่อน - กินน้ำแต่แสลงเนื้อ ใช้ในความหมายว่า "เกลียดตัวกินไข่
เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง"
(ขะลำ-แสลง อัปมงคล, ต่อน-เนื้อ ก้อนเนื้อ)
- ผ้าฮ้ายห่อคำ - ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ใช้ในความหมายว่า "สิ่งไม่งามปกปิดความดีงาม"
(ผ้าฮ้าย - ผ้าขี้ริ้ว, ทอง - ทองคำ)
- เฮ็ดคือข้า กินคือพระยา - ทำงานเหมือนไพร่กินเหมือนพระยา ใช้ในความหมาย
ว่า "รสนิยมสูงกว่าฐานะ"
(เฮ็ด - ทำงาน)
- สิบบ้านซ่าห้าบ้านลือ - เล่าลือสิบบ้าน ห้าบ้าน ใช้ในความหมายว่า "ข่าวนินทา
ข่าวเล่าลือ"
(ซ่า - เล่าลือ)
- ได้เต่าลืมหมา - ได้เต่าลืมหมา ใช้ในความหมายว่า "ได้เพื่อนใหม่ลืมเพื่อนเก่า"
- ซื้อได้ขายหมาน - ซื้อได้ชายดี ใช้ในความหมายว่า "ทำมาค้าคล่อง"
(หมาน-โชคดี)
- ไก่ใหม่เกือข้าวสาร - ไก่ใหม่เลี้ยงด้วยข้าวสาร ใช้ในความหมายว่า
"เห่อของใหม่" (เกือ-เลี้ยง ขุนอาหาร)
ผญา จัดเป็นวัฒนธรรมทางการใช้ภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะของภาคอีสานที่น่าสนใจยิ่งอย่างหนึ่ง และเมื่อพิจารณาถึงผญาโดยทั่ว ๆ ไปแล้วพอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
1. ผญาที่แบ่งตามรูปลักษณ์ จะแยกย่อยได้ ๒ ชนิดกว้าง ๆ คือ
ก. ผญาประเภทที่ไร้สัมผัสต่อเนื่องกัน ผญาชนิดนี้จึงถือเอาความและจังหวะของ
ถ้อยคำที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัมผัสเป็นหลัก ดังตัวอย่าง เช่น
ไผสิมาสร้างแปงฮางฮังให้หนูอยู่ คันปากบ่กัดตีนบ่ถีบสังสิได้อยู่ฮัง
(= เป็นที่พึ่งแห่งตน)
ข. ผญาประเภทที่อยู่ในรูปของร้อยกรอง มีสัมผัสระหว่างวรรคติดต่อกันโดยตลอดเช่นเดียวกับสัมผัสของร้าย ดังตัวอย่าง เช่น
ตกหมู่ขุนซ่อยขุนเกือน้า ตกหมู่ข้าซ่อมข้าพายโซน ตกหมู่โจรซ่อยหามไหเหล้า
(ไปอยู่ในหมู่ขุนนางต้องช่วยเขาเลี้ยงม้า ไปอยู่ในหมู่ข้าต้องช่วยเขาสะพายสิ่งของ ไปอยู่ในหมู่โจรต้องช่วยเขาหามไหเหล้า อยู่บ้านท่านอย่านั่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น)
2. ผญาที่แบ่งตามเนื้อหา จะแยกย่อยได้เป็น ๒ ชนิดกว้าง ๆ คือ
ก. ผญาภาษิต
ข. ผญาเกี้ยว
อนึ่ง สำหรับการศึกษาวิเคราะห์ผญาในบทความนี้ผู้วิจัยจะศึกษาเฉพาะผญาภาษิต
และผญาเกี้ยวที่อยู่ในรูปของร้อยกรองเท่านั้น
คำผญา (สำนวนภาษิต)
คำผญา คือสำนวนภาษิตที่ชาวอีสานนิยมใช้พูดจากันส่วนใหญ่หนุ่มสาวเกี้ยวพาราสีกัน มักจะใช้คำพูดที่มีความหมายโดยนัยเพราะเห็นว่าเป็นคำพูดที่มีความหมายดี คารมคมคาย และยังมีความหมายหลายแง่มุมอีกด้วย คำผญาที่หนุ่มสาวใช้โต้ตอบกันนั้นเรียกว่า "ผญาเครือ"
ส่วนคำผญาที่ใช้พูดเชิงสั่งสอนว่ากล่าวบุตรหลานนั้นต่างกับผญาเครือ เพราะใจความมุ่งที่จะให้สติเตือนใจ ซึ่งคำผญาเหล่านี้เป็นคำสำนวนที่จดจำสืบต่อกันมา หรือจดจำมาจากหมดลำบ้าง คำเทศน์ของพระภิกษุบ้าง สำนวนในวรรณกรรมอีสานบ้าง แต่กระนั้นก็ตาม คำผญาเหล่านี้มีจำนวนมากและมีวิธีสร้างคำผญาหลายแบบดังนี้
๑. คำผญาบาทเดียว คำผญาบาทหนึ่ง ๆ มี ๖-๘ คำ ซึ่งเวลาพูดจะแบ่งเป็น ๒ จังหวะ หรือ ๒ วรรคละ ๓-๔ คำ ซึ่งจะส่งสัมผัสกัน ตัวอย่าง
- หมาหลายเจ้า กินข้าวหลายเรือน (หมาหลายเจ้าของกินข้าวได้หลายบ้าน)
- กินข้าวโต อย่าโสความเพิ่น (กินข้าวของตนเองอย่าไปพูดข้องแวะเรื่องคนอื่น)
- เฒ่าเสียดาย ตายเสียซื่อ (แก่เสียเปล่า ๆ ตายเสียเฉย ๆ คือไม่ทำประโยชน์อะไรเลย)
- ควยตู้มักชน คนจนมักเว้า (ควายเขาตู้ชอบชน คนจนชอบคุยโว)
- แหวนดีย้อนหัว ผัวดีย้อนเมีย (ย้อน-เพราะ เพราะว่า)
๒. คำผญาซ้ำคำหน้า คือคำผญาที่จะขึ้นต้นคำหนักวรรคตรงกัน เป็นการซ้ำคำ เล่นคำมีความหมายเด่นขึ้นอีกด้วย เช่น
- เจ้าเฮือนพาเว้าเจ้าเหล้าพากิน (เจ้าบ้านชวนแขกคุย เจ้าของเหล้าต้องเชิญแขกกิน)
- เอิ้นกินแล่นใส่ เอิ้นใซ้แล่นหนี (เอิ้น-เรียก / ใซ้-ใช้ รับใช้)
- อยากจนให้ขี้ถี่ อยากมีให้เฮ็ดทาน (ขี้ถี่ - ตระหนี่ / เฮ็ดทาน - ทำบุญ ทำทาน)
- บ่อนต่ำให้คูณ บ่อนนูนให้ถาก (คูณ-เพิ่มพูน เจริญ / บ่อน-ที่ สถานที่)
- มีเฮือนบ่มีฝา มีนาบ่มีฮ่อง (เฮือน - เรือน / ฮ่อง - ร่องน้ำ)
- มีเงินให้เพิ่มกู้ มีซู้ให้เพิ่นเล่น (เพิ่น - เขา / ชู้-ชู้เมีย)
๓. คำผญาล้อคำ คือคำผญาที่สร้างขึ้นโดยนำคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันนำหน้าวรรค หรือคำตรงกันข้ามให้มีความหมายโดดเด่นขึ้น และสัมผัสกันด้วย ดังตัวอย่าง
- สิถิ้มก็เสียดาย สิบายก็ขี้เดียด (จะทิ้งก็เสียดาย จะลูบคลำก็รังเกียจ)
- หัวดำไปก่อน หัวด่อนนำกัน (คนหนุ่ม (หัวดำ) ไปก่อน คนหัวขาว (ด่อน)
ไปตามหลัง)
- คนหลักค้าใกล้ คนใบ้คำไกล (คนฉลาดค้าใกล้คนใบ้โง่ค้าไกล)
- นั่งให้เบิ่งที่ หนีให้เบิ่งบ่อน (นั่งให้ดูสถานที่หนีก็ให้ดูสถานที่)
- เฮ็ดนาอย่าแพงกล้า ได้ค้าอย่าแพงทึน (ทำนาอย่าเสียดายล้า ไปค้าอย่าเสียดายทุน)
ฯลฯ
ผญาภาษิต
คือ ผญาที่เป็นคำเตือน คำแนะนำสั่งสอน ให้ประชาชนโดยทั่วไป ประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ผญาชนิดนี้ บางทีเรียกกันว่า ผญาก้อม (ผญาสั้น)หรือโตงโตย เนื้อหาอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ประการใหญ่ ๆ คือ
1. เนื้อหาของผญาภาษิตที่ได้แนวความคิดมาจากพุทธศาสนา
ศาสนามีความสัมพันธ์กับชาวพื้นถิ่นอีสานเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นหลักยึดถือทางจิตใจ ทำให้ผู้คนในสังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เมื่อพิจารณาถึงกรณีนี้ก็อาจประเมินได้ว่า ศาสนา คือ ข้อกำหนดอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ควบคุมสังคมให้อยู่ในภาวะสงบสุขได้ แต่ศาสนามิได้มีผลบังคับใช้กับผู้คนในสังคมอย่างตรงรูปเพียงอย่างเดียว
ชาวพื้นถิ่นยังฉลาดที่จะประยุกต์ศาสนาไปบังคับใช้กับผู้คนร่วมสังคมในรูปอื่น ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในรูปของผญาภาษิต ดังนั้น เนื้อหาของผญาภาษิตที่ได้แนวความคิดมาจากพุทธศาสนาจึงมีอยู่มากหลาย ดังตัวอย่าง เช่น
บุญมีแล้วแนวดีป้องใส่ บุญบ่ได้แนวขี้อ้ายแล่นโฮม
(เมื่อมีบุญจะประสบแต่ความงดงาม ครั้งหมดบุญก็จะประสบแต่ความเลวร้าย)
บุญบาปนี้เป็นคู่คือเงา เงานั้นไปตามเฮาซูวันบ่มีเว้น
(บุญบาปนี้เปรียบเสมือนเงาที่ติดตามตัวเราไปไม่มีเว้น)
หรือ
ยามยากคิดเถิงนาย ยามตายคิดเถิงพระ
(คิดเถิง = คิดถึง)
2. เนื้อหาของผญาภาษิตที่กล่าวถึงวัตรปฏิบัติที่เหมาะสม
ลักษณะของผญาภาษิตแบบนี้ มักเป็นการห้ามประพฤติในสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกครรลองคลองธรรม หรือไม่ก็เป็นการยุให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงามที่จะเกิดคุณประโยชน์ ทั้งกับตนเองและบุคคลร่วมสังคม
ข้อห้ามมิให้กระทำและข้อสนับสนุนให้กระทำพฤติกรรมต่าง ๆ ดังที่ปรากฎในบท
ผญาภาษิตนี้ โดยปกติจะมีต้นเค้าความเป็นจริงมาก่อน ก่อนที่จะได้รับการตราเป็นบทผญาภาษิตที่จะกล่าวรวมถึงแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม และไปมีบทบาทในการควบคุมสังคมได้ในอีกขั้นตอนหนึ่งดังตัวอย่าง เช่น
หญิงใดสมบูรณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นหญิงที่เลิศล้ำสมควรแท้แน่เฮือน
ไปหาพระเอาของไปถวาย ไปหานายเอาของไปต้อน
(ต้อน = ฝาก)
หรือ
อย่าได้กดเขาย้องยอโตผิดฮีต อย่าได้หวีดหวีดเว้าประสงค์ขึ้นข่มเขา
(อย่ากดคนอื่นแล้วยกตนเองมันผิดจารีต อย่าได้พูดเพื่อมีเจตนาข่มคนอื่น)
3. เนื้อหาของผญาภาษิตที่ได้อิทธิพลมาจากวรรณกรรม
เนื้อหาของผญาภาษิตในลักษณะนี้ จะเป็นการนำเอาตัวละคร หรือเรื่องราวใน
วรรณกรรมทั้งวรรณกรรมของภาคกลางและวรรณกรรมของภาคอีสานมากล่าวเปรียบเทียบให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจถึงข้อภาษานั้นๆ ได้แจ่มชัดขึ้น ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการเข้าใจของชาวพื้นถิ่นดังตัวอย่าง เช่น
เงาะฮูปฮ้ายยังได้กล่อมรจนา ยังได้เป็นราชาซ่าลือทั้งค่าย
(ซ่าลือ = เลื่องลือ, ปรากฏ ทั้งค่าย = ทั้งหมด)
ศิลป์ไชยท้าวตกไกลแสนยาก ยังได้บั่นบากกลับต่าวขึ้นเป็นเจ้านั่งเมือง
(ต่าว = กลับ)
หรือ
พระเวสสันดรเจ้านงนาถมะที ยังได้หนีพาราจากนคร ไปอยู่ดงดอนไพรสณฑ์ ต้อง
ทุกข์ทนบ่เคยพ้อเคยเห็น
(มะที = มัทรี พ้อ = พบ)
4. เนื้อหาของผญาภาษิตที่กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมวัตถุของชาวพื้นถิ่น
อีสาน
ผญาภาษิตที่มีเนื้อหาเช่นนี้จะมีเป็นจำนวนมากที่สุด มีทั้งที่เป็นการกล่าวถึงวัฒนธรรมวัตถุนั้นด้วยถ้อยภาษาตรง ๆ เช่น
มีเฮือนบ่มีคร่าวสิเอากลอนไปพาดไสนอ มีคร่าวบ่มีตอกผูกไว้สิไปมั่นบ่อนใด
(เรือนไม่มีคร่าวจะเอากลอนไปพาดไว้ทางไหน และเมื่อมีคร่าวแล้ว แต่ไม่มีตอกผูก
มันจะมั่นคงได้อย่างไร)
คันได้อยู่ยอดฟ้าผาสาทประดับมุก อย่าได้สืมคนทุกข์ผู้ขีควายคอนกล้า
(ผาสาท = ปราสาท คอนกล้า = แบกกล้า)
การกล่าวถึงวัฒนธรรมวัตถุในผญาภาษิตจะเป็นสิ่งบ่งบอกให้ทราบว่า ในสังคมนั้นมีวัฒนธรรมวัตถุอะไรบ้าง เพราะวัฒนธรรมวัตถุที่ปรากฎในผญาภาษิตนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงในสังคม
กวีชาวพื้นถิ่นจึงได้ดึงวัฒนธรรมวัตถุนั้นไปกล่าวถึงในบทผญา เป็นการรายงานถึงการมีอยู่ของวัฒนธรรมวัตถุของสังคมไปในตัว
ผญาเกี้ยว
คือ ผญาที่กล่าวเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะในงานลงข่วง หรือปั่นฝ้าย ซึ่งเป็นงานที่ชายหนุ่มนิยมมาพบปะพูดคุยกับหญิงสาวและมักจะมีการ "จ่ายผญา" คือ พูดจาเกี้ยวพานกันด้วยโวหารอันลึกซึ้งคมคาย ผญาเกี้ยวจึงเป็นสิ่งทดสอบเกี่ยวกับปฏิภาณไหวพริบของคู่สนทนาได้เป็นอย่างดี
ผญาชนิดนี้บางครั้งเรียกกันว่า ผญาเครือ และมีเนื้อหาที่สามารถแบ่งออกเป็นประการใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประการ คือ
๑. เนื้อหาของผญาเกี้ยวที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวพื้นถิ่นอีสาน เนื้อหาของผญาเกี้ยวในลักษณะนี้จะมีถ้อยคำหรือข้อความกล่าวถึงวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในสังคมพื้นถิ่นวัฒนธรรมเหล่านั้นอาจแยกกล่าวย่อยออกไปได้ ๒ ชนิดกว้าง ๆ คือ
๑.๑ วัฒนธรรมวัตถุ ได้แก่ สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ด้วยกันเอง นับตั้งแต่วัฒนธรรมวัตถุที่มีความสำคัญมาก เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ไปจนกระทั่งวัฒนธรรมวัตถุที่มีความสำคัญรอง ๆ ลงไป เช่น ยานพาหนะ หรือ อาวุธยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ
ในเนื้อหาของผญาเกี้ยวจะกล่าวถึงวัฒนธรรมวัตถุอยู่หลากหลายประการ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา หรือกล่าวถึงในลักษณะของความเปรียบก็ตาม ดังตัวอย่าง เช่น
ขอบคุณเด้อหล่าที่หายามาให้สูบ ปูสาดฮูปดอกฟ้ามาช่างโก้แท้หนอหล้าเอย
(ขอบคุณน้องที่หาบุหรี่มาให้สูบ ปูเสื่อที่เป็นรูปดอกฟ้าสวยงามต้อนรับเขา)
๑.๒ วัฒนธรรมที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุ ได้แก่ อุดมการณ์ ค่านิยม ประเพณี หรือทัศนคติต่างๆ ซึ่งปรากฎอยู่ในเนื้อหาของผญาเกี้ยวเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ดังตัวอย่างเช่น
สัจจาผู้หญิงนี้บ่มีจริงจักเทื่อ ชาติดอกเดื่อนันบ่บานอยู่ต้นตอ อ้ายบ่เชื่อคนดอกนา
(สัจจะของผู้หญิงนั้นไม่เคยมีจริงสักครั้ง เหมือนดังดอกมะเดื่อที่ไม่เคยบานอยู่กับต้น พี่จึงไม่เชื่อคนดอก)
ก่อนสิจากเจ้านี่อ้ายขอฝากไมตรีจิต ขอให้พันธนังติดหมื่นปีอย่ามายม้าง อ้ายขอทำบุญสร้างอานิสงส์แสวงร่วม
(ก่อนที่พี่จะจากน้องไป พี่ขอฝากไมตรีไว้ให้ผูกพันกันสักหมื่นปี อย่าได้มีวันเคลื่อนคลาย จะขอทำบุญสร้างกุศลร่วมกับน้อง)
หรือ
อ้ายมายอยาฮ่วนเฮียงเคียงสอง หมายให้มีกินดอกนำน้องแท้เหล่า
(พี่อยากจะร่วมเรียงเคียงสอง อยากให้มีพิธีแต่งงานกับน้องจริง ๆ)
๒. เนื้อหาของผญาเกี้ยวที่กล่าวถึงวัตรปฏิบัติที่เหมาะสม
โดยปกติของผญาเกี้ยวแล้วจะเป็นการกล่าวถ้อยโต้ตอบกันไปมา และในกระบวนการเกี้ยวพาราสีนั้น ผู้โต้ตอบกันก็อดมิได้ที่จะสอดแทรกถึงหลักที่ควรประพฤติ ควรปฏิบัติตามระบบของสังคมเข้าไปในเนื้อหาของผญา เช่น การกล่าวแขวะชายหนุ่มว่าละทิ้งหน้าที่ของสามีมาตามสนใจผู้หญิงอื่น ดังตัวอย่างว่า
อ้ายเอย เจ้าผู้มีเมียแล้วสังละเฮือนให้หมาเห่า สังเจ้าบ่อยูบ้านเฮ็ดงานซ่อยเมีย
(พี่เอย ทำไมจึงไม่อยู่บ้าน ไม่ช่วยเมียทำงาน)
หรือ
การที่ฝ่ายหญิงบอกกับฝ่ายชายว่า ถ้ารักจริงก็ให้จักส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอดังตัวอย่างว่า
คั่นอ้ายมักน้องแท้ให้พ่อแม่มาขอ เอากะทอมานำใส่อีนางไปนอนซ้อน
(ถ้าพี่รักน้องจริงให้ส่งพ่อแม่ขอสู่ขอ และเอากะทอ หรือเช่งมาให้น้องไปนอนเป็น
คู่เถิด)
สิ่งดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักปฏิบัติที่คนในสังคมยึดถือและเห็นว่างดงามไม่สมควรละเว้น จึงมีการนำมากล่าวกระตุ้นเตือนกัน แสดงให้ประจักษ์ได้อย่างหนึ่งว่าชาวพื้นถิ่นอีสานยังคงยึดมั่นอยู่ในวัตรจริยาที่ดีงาม มิได้ละเลยหลงลืม เมื่อมีโอกาสจึงได้นำเอาข้อควรปฏิบัตินั้นมาอ้างถึงอย่างเป็นหลักสำคัญอยู่เสมอ
๓. เนื้อหาของผญาเกี้ยวที่อยู่ในลักษณะตลกชวนขัน อารมณ์ขันของชาวพื้นถิ่นอีสานที่ ปรากฎอยู่ในบทผญาเกี้ยวนั้น มักจะปรากฎอยู่ในลักษณะของความเปรียบ กล่าวคือผู้กล่าวผญาจะพยายามเลือกสรรคำเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกขบขันขึ้นมา ดังตัวอย่าง เช่น
อ้ายนี้มักฮูปน้อง คือ ดั่งยักษ์ถึกลอบ คือ ดังปอบถึงไซ
(พี่นี้รักน้องเหมือนกับยักษ์ติดลอบ หรือปอบติดไซ)
หรือ
น้องนี้ก็มักฮูปอ้ายผู้มีกายหนักเกิ่งภูเขา
(น้องนี้ก็รักพี่ที่หนักเสมอกับภูเขา)
ขั้นตอนผญาเกี้ยว
1. ขั้นทักทาย
2. ขั้นเผยความในใจ
- บอกถึงสาเหตุ จุดประสงค์ของการมา
- หยั่งท่าทีดูว่ามีคนรักหรือยัง
- พูดถ่อมตัว ยกย่องอีกฝ่ายหนึ่ง
- กล่าวเสนอความในใจ
3. ขั้นกล่าวลา
- ลาด้วยความเข้าใจกัน
- ลาด้วยความหวัง
- ลาด้วยความจำเป็น
- ลาด้วยความไม่แน่ใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น