ความหมาย ที่มา และประเภทนิทาน
นิทาน หมายถึงเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา มุ่งให้เห็นความบันเทิงแทรก แนวคิด คติสอนใจ จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยอย่างหนึ่ง อาจเรียกนิทาน พื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง นิทานชาวบ้าน เป็นต้น
ตำนาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของตำนานไว้ว่า หมายถึง เรื่องแสดงกิจการอันมีมาแล้วแต่ปางหลัง เรื่องราวนมนานที่เล่าสืบ ๆ มา เช่น ตำนานพุทธเจดีย์สยาม หรือใช้เรียกพระปริวรรตบทหนึ่งว่า “เจ็ดตำนานบ้าง สิบสองตำนานบ้าง”
จึงรวมความสรุปความหมายของตำนานว่า เป็นเรื่องราวของความเป็นมาของสถานที่ สิ่งของต่าง ๆ ซึ่งจะไม่สามารถชี้ได้ชัดเจนว่าสถานที่ สิ่งของ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น วัน เวลาใด ใครเป็นผู้เกี่ยวข้องชัดเจน
นิยาย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของนิยายไว้ว่า หมายถึงเรื่องที่เล่าต่อกันมา หมายถึงความไม่แน่นอนหรือไม่ใช่ความจริงทั้งหมด มีการแต่งเติมเสริมต่อบางตอนเรื่องราวนั้นจะต่างไปจากชีวิตจริง เช่น เกิดเป็น ลูกสัตว์แล้วมาใช้เวทย์มนต์คาถาให้กลายเป็นมนุษย์ได้ในภายหลัง เป็นต้น จากความหมายของนิทาน ตำนาน นิยาย ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกัน จนบางครั้งแยกกันไม่ออกและมีนิยาย ตำนาน นิทานพื้นบ้านอยู่มากมาย
ที่มาของนิทาน ตำนาน นิยาย
1. มาจากความต้องการให้เกิดความสนุกสนาน บันเทิง จึงผูกเรื่องขึ้นหรือ นำเรื่องไปผสมผสานกับเรื่องที่มีอยู่เดิม
2. มาจากความต้องการอบรมสั่งสอน ในแง่ของพุทธศาสนาให้ความรู้ ด้านคติธรรม เพื่อให้การอบรมสั่งสอนให้คนประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในกฏระเบียบของสังคม เช่น นิทานธรรมบท นิทานอีสป เป็นต้น
3. มาจากการยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย จึงมีการสมมุติเรื่องราวขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
ประเภทของนิทานพื้นบ้าน
วรรณกรรมท้องถิ่นที่เป็นเรื่องเล่า แบ่งประเภทเพื่อการศึกษาตามแบบของนิทานพื้นบ้าน สรุปได้ดังนี้
1. ประเภทเทพนิยายหรือปรัมปรา (Fairy tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า เรื่องมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เป็นความฝันและจินตนาการของผู้แต่ง เรียกหลายอย่างเช่น นิทานมหัศจรรย์ นิทานบรรพบุรุษ เรื่องราวมักเกี่ยวข้องกับราชสำนัก เจ้าหญิง เจ้าชาย มีแม่มด มียักษ์ สัตว์ประหลาด ตัวละครที่ดีจะเป็นฝ่ายชนะ เช่น เรื่องพระอภัยมณี คาวี สังข์ทอง พระสุธนมโนห์รา ฯลฯ
2. ประเภทชีวิตจริง (Novella) เป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในโลกของความจริง มีการบ่งสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมีปาฏิหาริย์อิทธิฤทธิ์แต่เป็นไปในลักษณะที่เป็นไปได้ โดยใช้สถานที่ เวลา ตัวละครที่มาจากความจริง เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี (บางส่วนที่มาจากชีวิตจริงของผู้แต่ง) พระลอ พระรถเมรี พระร่วง ไกรทอง เป็นต้น
3. ประเภทวีรบุรุษ (Hero tale) เป็นเรื่องที่มีหลายตอนขนาดยาว อาจคล้ายชีวิตจริงหรือจินตนาการ เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวถึงวีรบุรุษที่ต้องผจญภัยที่มีลักษณะเหนือมนุษย์ เช่น เรื่อง เฮอร์คิวลิส เซซีอุสและเพอร์ซีอุสของกรีก เป็นต้น
4. ประเภทนิทานประจำถิ่น (Sage) มักเป็นเรื่องแปลกพิสดารซึ่งเชื่อว่า เคยเกิดขึ้นจริง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง บ่งบอกสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมาจากประวัติศาสตร์ อาจเป็นไปได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ เทวดา ผี เช่น เรื่อง พระยาพาน พระร่วง เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตาม่องล่าย ท้าวปาจิตกับนางอรพิม เป็นต้น
5. ประเภทเล่าอธิบายเหตุ (Explanatory tale) เป็นเรื่องอธิบายกำเนิด ความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ กำเนิดของสัตว์ว่าเหตุใดจึงมีรูปร่างลักษณะ ต่าง ๆ กำเนิดของพืช มนุษย์ ดวงดาวต่าง ๆ เป็นต้น เช่น ทำไมจระเข้จึงไม่มีลิ้น กำเนิด ดาวลูกไก่ กำเนิดจันทรคราส เป็นต้น
6. ประเภทเทพปกรณัมหรือเทวปกรณ์ (Myth) เป็นเรื่องอธิบายถึงกำเนิดของจักรวาล มนุษย์ สัตว์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ลม ฝน กลางวัน กลางคืน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แสดงถึงความเชื่อทางศาสนา มีเรื่องของเทพที่เรารู้จักกันดี เช่น เมขลา รามสูร เป็นต้น
7. ประเภทสัตว์ (Animal tale) เป็นเรื่องที่มีสัตว์เป็นตัวเอก โดยจะแสดงให้เห็นความฉลาดและความโง่เขลาของสัตว์ โดยเจตนาจะมุ่งสอนจริยธรรมหรือคติธรรม ซึ่งจัดเป็นเรื่องประเภทให้คติสอนใจ เช่น นิทานอีสป และปัญจะตันตระ
8. ประเภทมุขตลก (Merry tale) เป็นเรื่องขนาดสั้นอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ หรือสัตว์ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโง่ ความฉลาด การใช้กลลวง การแข่งขัน การปลอมแปลง ความเกียจคร้าน เรื่องเพศ การโม้ คนหูหนวก นักบวช พระกับชี ลูกเขยกับแม่ยาย ศรีธนญชัย กระต่ายกับเต่า เป็นต้น
9. ประเภทศาสนา (Religious tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเยซู นักบุญ พระพุทธเจ้า พระสาวก ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎกอยู่หลายเรื่อง ซึ่งทรรศนะของผู้เล่ามักถือว่าเป็นเรื่องจริง
10. ประเภทเรื่องผี เป็นเรื่องเกี่ยวกับผีต่าง ๆ ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่ามาจากไหน เกิดอย่างไร เช่น ผีบ้าบ้องและผีปกกะโหล้งของไทยภาคเหนือ หรือผีที่เป็นคนตายแล้วมาหลอกด้วยรูปร่างวิธีการต่าง ๆ มีผีกองกอย ฯลฯ
11. ประเภทเข้าแบบ (Formular tale) เป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องสำคัญเล่าเพื่อความสนุกสนานของผู้เล่า และผู้ฟังอาจมีการเล่นเกม แบ่งเป็นนิทานลูกโซ่ เช่นเรื่องตากับยายปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า นิทานหลอกผู้ฟัง นิทานไม่รู้จบ เช่นเกี่ยวการนับจะเล่าเรื่อยไปแต่เปลี่ยนตัวเลข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น