วรรณกรรมท้องถิ่น
๑. ความหมาย
วรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง วรรณกรรมที่ปรากฎอยู่ในท้องถิ่นภาคต่าง ๆ ของไทย ทั้งที่เป็นลายลักษณ์ หรือมุขปาฐะ ซึ่งแตกต่างไปจากวรรณกรรมแบบฉบับ เพราะวรรณกรรมท้องถิ่นนั้นชาวท้องถิ่นสร้างขึ้นมา ชาวท้องถิ่นใช้ (อ่าน, ฟัง) และชาวท้องถิ่นเป็นผู้อนุรักษ์ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง รูปแบบของฉันทลักษณ์จึงเป็นไปตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ
วรรณกรรมท้องถิ่นมีเนื้อหาสาระ และคตินิยมเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากคนไทยทุกภาพในอดีตมีคตินิยมในการสร้างหนังสือถวายวัด โดยเชื่อกันว่าจะได้อานิสงส์อย่างแรง อีกประการหนึ่งวัดก็เป็นสำนักเล่าเรียนของกุลบุตร กุลธิดาของประชาชน ฉะนั้นการสร้างสรรค์วรรณกรรมท้องถิ่นยังมีส่วนให้นักเรียนได้ฝึกอ่านหรือทวบทวนนอกเหนือไปจากแบบเรียน (จินดามณี ปฐมมาลา ปฐม ก.กา) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมประเภทนิทานคติธรรม
๒. ความเป็นมาของการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น
การศึกษาวรรณกรรมไทยนั้น เราจะมาเริ่มศึกษากัน เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ กล่าวคือมีการจัดตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในครั้งนั้นได้รวบรวม ชำระ ซ่อมแซมวรรณกรรมที่กระจัดกระจาย และมีการพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมโบราณของไทยไว้ได้ส่วนหนึ่ง คณะกรรมการโบราณคดีสโมสรได้ศึกษารวบรวมวรรณกรรมที่ท่านมีประสบการณ์ คือรู้จักและเคยอ่านสมัยเล่าเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ คือ ขุนนาง นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ส่วนวรรณกรรมที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน หรือชาววัด หรือในท้องถิ่นที่ห่างไกล เข้าใจว่าท่านเหล่านั้นคงยังมิได้ศึกษารวบรวม อีกประการหนึ่งในชั่วระยะเวลาอันสั้นที่จัดตั้งโบราณคดีสโมสรนั้น ข้อมูลในส่วนกลางหรือราชสำนัก คงมีมากเกินกว่าที่จะศึกษารวบรวมในระยะเวลาอันสั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้จัดตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ คงจะสืบเนื่องมาจากโบราณคดีสโมสรนั่นเอง คณะกรรมการชุดนี้ได้พยายามที่จะจัดจำแนกวรรณกรรม โดยพิจารณาว่าเป็นระยะเวลาใดควรแก่การยกย่อง ในสมัยจัดตั้งวรรณคดีสโมสรนั้นเป็นระยะเวลาไม่นานนักก็สิ้นสมัยรัชกาลที่ ๖ จากนั้นก็ขาดแรงสนับสนุนการศึกษารวบรวมวรรณกรรม จึงอยู่ในวงจำกัด ยังมิได้ขยายขอบเขตไปศึกษาวรรณกรรมที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน ชาววัดและวรรณกรรมในท้องถิ่นที่ห่างไกล
หลังจากนั้นเป็นต้นมารวมเวลาประมาณกึ่งศตวรรษ กุลบุตร กุลธิดาชาวไทย ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนเฉพาะวรรณกรรมที่ได้ศึกษารวบรวมชำระกันในครั้งนั้นเท่านั้น ไม่ปรากฎว่า ได้มีการศึกษาชำระ รวบรวมวรรณกรรมอื่น ๆ ให้กว้างขวางต่อไป วรรณกรรมชาวบ้าน ชาววัด เหล่านั้นจึงถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาเนิ่นนาน
ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๒ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แนวคิดมาจากตะวันตกที่นิยมศึกษาเรื่องราวทางพื้นบ้าน และเสนอเป็นวิทยากรในหลักสูตรเรียกชื่อว่า Folklore จึงนำวิธีการเหล่านั้นมาจัดเข้าในหลักสูตรระดับอุดมศึกษา เรียกชื่อว่า "คติชาวบ้าน" บ้าง "คติชนวิทยา" บ้าง
จากการศึกษาวิชาสาขาคติชนวิทยานั้น ทำให้เราทราบถึงแนวคิด คตินิยม ปรัชญาชีวิตของสังคมในท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างไปจากคตินิยม ปรัชญาชีวิตและสังคมของภาคกลางเกือบสิ้นเชิง ฉะนั้นจึงมีการศึกษาที่ลึกซึ้งลงไป ในเอกสารท้องถิ่นต่าง ๆ จึงพบว่าในเอกสารท้องถิ่นเหล่านั้น เป็นคลังของแนวคิด ค่านิยมของสังคมท้องถิ่น อันแอบแฝงอยู่ในรูปนิทานเหล่านั้น ฉะนั้นจึงทำให้นักวิชาการในสาขาอื่น ๆ เริ่มตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของข้อมูลทางคติชนวิทยาโดยเฉพาะวรรณกรรม ประจวบกับ เมื่อช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๐- พ.ศ.๒๕๒๐ นักศึกษาเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านการศึกษาวรรณคดี โดยมีทัศนคติต่อวรรณคดีที่อยู่ในหลักสูตรระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษานั้น เป็นวรรณคดีของชนชั้นสูง หรือวรรณกรรมเพื่อรับใช้ศักดินา ไม่ก่อให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ใด ๆ รังแต่ให้เกิดความเบื่อหน่าย
ฉะนั้นเมื่อตอนปลายปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงมีการจัดรายวิชาวรรณกรรมท้องถิ่น ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ส่วนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีการเสนอให้อ่านวรรณกรรมท้องถิ่นของภาคต่าง ๆ เป็นหนังสืออ่านประกอบอยู่บ้าง
๓. ข้อแตกต่างระหว่างวรรณกรรมแบบฉบับกับวรรณกรรมท้องถิ่น
จากการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นของภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางแล้ว พบว่ามีรูปแบบต่างไปจากวรรณกรรมแบบฉบับอยู่มาก ตามลำดับความใกล้ชิดกับรัฐบาลกลางหรือราชสำนักที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าพื้นฐานของสังคม มโนทัศน์ของกวี ตลอดจนบันทึกสภาพสังคมในสมัยที่กำเนิดวรรณกรรมนั้น ๆ ตามมโนทัศน์ของกวี วิทย์ ศิวะศรียานนท์ (๒๕๐๔ : ๑๘๓) กล่าวว่ากวีคนเดียวก็เปรียบเหมือน ๓ คน คือ นอกจากเป็นผู้แต่งหนังสือแล้ว ยังเป็นหน่วยหนึ่งของคนรุ่นนั้น และเป็นพลเมืองด้วย เนื่องจากเหตุนี้ นอกจากจะต้องสังวรในอาชีพประพันธ์ของตนในฐานะที่เป็นกวี ในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของคนสมัยนั้น ก็ย่อมจะทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียกับเหตุการณ์ที่ตนเห็นตำตาประจักษ์อยู่แก่ใจหาได้ไม่ และในฐานะที่เป็นพลเมืองอีกเล่า ก็จะต้องใส่ใจเหตุการณ์บ้านเมือง ความเคลื่อนไหวของประเทศชาติ ตลอดจนชนชั้นและอาชีพที่ตนเป็นหน่วยหนึ่งอีกด้วย
กวีหรือผู้เขียนย่อมสอดแทรกสภาพของสังคมสมัยนั้น ๆ ลงไปในวรรณกรรมที่เขาได้สร้างสรรค์ และในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของประชาคมนั้น ย่อมจะใส่ความคิดเห็น มโนทัศน์ของตนลงไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันในบทบาทของกวีหรือนักประพันธ์ จึงเสนอทัศนคติในบทบาทฐานะนั้นอีกด้วย ฉะนั้นปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงมีส่วนสำคัญที่แยกรูปแบบของวรรณกรรมแบบฉบับกับวรรณกรรมท้องถิ่นให้แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณารูปแบบของวรรณกรรมแบบฉบับกับวรรณกรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปนั้น ทำให้เห็นว่าวรรณกรรมแบบฉบับเป็นวรรณกรรมที่แพร่หลาย และเจริญอยู่ในราชสำนัก เริ่มตั้งแต่กวีผู้สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน พื้นฐานการศึกษาสูง และอยู่ในฐานะเหนือกว่าทางด้านสังคม ฉะนั้นค่านิยม สภาวะของสังคม จนทัศนะที่กวีสอดแทรกในวรรณกรรมนั้นจึงเป็นมโนทัศน์ของสังคมชั้นสูง ซึ่งต่างไปจากวรรณกรรมท้องถิ่นที่กวีเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือภิกษุ และอยู่ในภาวะของสังคมแบบชาวบ้านโดยทั่วไป ฉะนั้นค่านิยม สภาวะของสังคม และทัศนะที่กวีสอดแทรกลงไปในวรรณกรรมที่เขาสร้างสรรค์นั้นจะเป็นมโนทัศน์(คำบาลี สันสกฤต) หรือบทกวีนิพนธ์ที่ซับซ้อน เช่น ฉันท์ ส่วนใหญ่จะใช้กวีนิพนธ์ที่นิยมในท้องถิ่นนั้น ๆ
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมแบบฉบับกับวรรณกรรมท้องถิ่น
วรรณกรรมแบบฉบับ
|
วรรณกรรมท้องถิ่น
|
๑. ชนชั้นสูง เจ้านาย ข้าราชสำนัก มีสิทธิมีส่วนเป็นเจ้าของ
- ผู้สร้างสรรค์ รวมถึงจดบันทึก คัดลอก
- ผู้ใช้ (อ่าน, ฟัง
- ผู้อนุรักษ์
- แพร่หลายในราชสำนัก
๒. กวีประพันธ์เป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต หรือเจ้านาย ฉะนั้น ค่านิยม มโนทัศน์ ที่เห็นสังคมสมัยนั้น จึงจำกัดอยู่ในรั้วในวังหรือมีการสอดแทรกสภาวะของสังคมก็เป็นแบบมองเห็นสังคมแบบเบื้องบน
|
1. ชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิเป็นเจ้าของ
- ผู้สร้างสรรค์
- ผู้ใช้
- ผู้อนุรักษ์
- แพร่หลายในหมู่บ้าน
๒. กวี ผู้ประพันธ์ เป็นชาวพื้นบ้าน หรือพระภิกษุ สร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมาด้วยใจรักมากกว่า"บำเรอท้าวไธ้ธิราชผู้มีบุญ"ฉะนั้นมโนทัศน์เกี่ยวกับสภาวะของสังคม จึงเป็นสังคมชาวบ้านแบบประชาคมท้องถิ่น
|
๓. ภาษาและกวีโวหารนิยมการใช้คำศัพท์บาลีสันสกฤต โดยเชื่อว่าเป็นการแสดงภูมิปัญญาของกวีแพรวพราวไปด้วยกวีโวหารที่เข้าใจยาก
๔. เนื้อหาส่วนใหญ่ มุ่งในการยอพระเกียรติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการผ่อนคลายทางด้านอารมณ์ และศาสนาอยู่ไม่น้อย
๕. ค่านิยม อุดมคติ ยึดปรัชญาชีวิตแบบสังคมชาวพุทธ และยกย่องสถาบันกษัตริย์อีกด้วย
|
๓. ภาษาที่ใช้เป็นภาษาง่าย เรียบ ๆ มุ่งการสื่อความหมายเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นภาษาท้องถิ่นนั้น ละเว้นคำศัพท์บาลี สันสกฤต โวหารนิยมสำนวนที่ใช้ในท้องถิ่น
๔. เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งในทางระบายอารมณ์ บันเทิงใจ แต่แฝงคติธรรมทางพุทธศาสนา แม้ว่าตัวเอกของเรื่องจะเป็นกษัตริย์ก็ตาม แต่มิได้มุ่งยอพระเกียรติมากนัก
๕. เหมือนกับวรรณกรรมแบบฉบับ ยกย่องสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่เน้นมากนัก
|
๔. ประโยชน์ของการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น
ข้อมูลทางคติชนวิทยา เป็นที่สนใจของนักศึกษาทางด้านมานุษยวิทยามาโดยตลอด เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่สืบทอดกันมาในประชาคมท้องถิ่นต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านคติชนนั้น ทำให้นักมานุษยวิทยาสามารถเข้าใจลักษณะของสังคม ค่านิยม ปรัชญาชีวิต และวิถีทางแห่งชีวิต ตลอดจนระบบของสังคมของกลุ่มชนนั้น ๆ วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นข้อมูลสำคัญในข้อมูลทั้งหลาย ทางด้านคติชนวิทยา ที่จะสะท้อนให้เห็นสภาวะของประชาคมนั้น ๆ เป็นอย่างดี
ประโยชน์ในการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น สรุปได้ ๓ ประการ ดังนี้
๔.๑ ประโยชน์ทางด้านวิชาการ ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นจะเข้าใจในสิ่งต่อไปนี้
๔.๑.๑ ปรัชญาชีวิตและสังคมของท้องถิ่น อันเป็นพื้นฐานของสังคม เช่น ความเชื่อ คตินิยม จารีตประเพณี เป็นต้น
๔.๑.๒ การจัดระเบียบสังคม หรือการควบคุมสังคม อันเป็นพันธกรณีของกลุ่มชนต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขของประชาคมนั้น ๆ บทบัญญัติต่าง ๆ อันเป็นปทัสฐานของสังคมนั้นได้สั่งสอนสืบต่อกันมาโดยมิได้มีการจดบันทึกไว้ แต่ก็ปรากฎอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านั้น ในข้อนี้ต้องเข้าใจร่วมกันว่า สังคมชนบทในสมัยอดีต กฎหมายของของรัฐบาลกลางมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมสังคมมากนัก แต่ปรัชญาพุทธศาสนา จารีต ความเชื่อ คตินิยม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมจะมีบทบาทควบคุมสังคมอย่างยิ่ง
๔.๑.๓ ประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น โดยเฉพาะทางด้านการจัดระบบสังคมการควบคุมสังคมตลอดจนจารีตประเพณีของสังคมนั้น
๔.๑.๔ ภาษาถิ่น วรรณกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะวรรณกรรมลายลักษณ์ที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอดีตจำเป็นคลังแห่งคำภาษาถิ่น ถึงแม้บางคำจะเลิกใช้ไปแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ยังปรากฎในเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านั้น นอกจากให้นักภาษาศาสตร์ ยังสามารถเห็นการคลี่คลายของคำภาษาไทยได้ดีจากเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย
๔.๑.๕ เป็นการก้าวหน้าทางวิชาการ การตระหนักถึงคุณค่าของวรรณกรรมท้องถิ่น จนได้มีการนำมาจัดอยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มในการที่จะส่งเสริมการศึกษารวบรวมค้นคว้าวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านั้นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงเอกลักษณ์ของชนชาติไทย
๔.๑.๖ เป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยไม่ให้สาปสูญก่อนภาวะอันควร
๔.๒. ประโยชน์ทางด้านปัจเจกบุคคล
๔.๒.๑ เพื่อให้นักศึกษาหรือผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น มีมโนทัศน์อันกว้าง ยอมรับแนวคิด ปรัชญาชีวิตของชนทุกชั้น ทุกท้องถิ่น ทุกสังคม
๔.๒.๒ ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น จะทราบถึงความเป็นอัจฉริยะของบรรพบุรุษของตน และของท้องถิ่นอื่นอีกด้วย
๔.๒.๓ ยอมรับแนวคิดของชนชาติต่างท้องถิ่น ต่างสังคมและต่างยุคสมัย
๔.๒.๔ ได้รับประสบการณ์ของชีวิตกว้างขวางยิ่งขึ้น
๔.๒.๕ มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาถิ่น วัฒนธรรมของท้องถิ่นอื่น ๆ อีกด้วย
๔.๓ ประโยชน์ทางด้านการเมืองการปกครอง
๔.๓.๑ ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น จะเกิดความรัก ความเข้าใจ ความภูมิใจในอดีตของท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่และท้องถิ่นอื่น ๆ ของคติด้วย ซึ่งก่อให้เกิดชาตินิยม ภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติ
๔.๓.๒ ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นจะเกิดความรักความเข้าใจในท้องถิ่นของตน ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น จะตระหนักในคุณค่า และย่อมมีความหวงแหน
๔.๓.๓ ซึ่งจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นอีกด้วย
๔.๓.๔ ทำให้ความเข้าใจอันดีระหว่างชนในชาติ และย่อมมีความสมานสามัคคีกัน
๔.๓.๕ ก่อให้เกิดการพัฒนา ระบบสังคมของชาติย่อมมีทิศทาง โดยอาศัยระบบสังคมท้องถิ่น ปรัชญาชีวิตในสังคมท้องถิ่น อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น