วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เดือนยี่

เดือนยี่ หรือ เดือน 2 - บุญคูณลาน

       ลาน ในที่นี้คือ ลานนวดข้าว คือ เอาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วมากองให้สูงขึ้น กริยาที่ทำให้ข้าวเป็นกองสูงขึ้น เรียกว่า คูณ หลังเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วก็อยู่ในเดือนยี่หรือเดือนมกราคม ชาวนาก็จะทำบุญคูณลานหรือเรียกบุญเดือนยี่ก็ได้

       มูลเหตุที่มีการทำบุญคูณลานนั้นมีว่า ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า มีชายพี่น้องสองคนทำนาร่วมกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำนม น้องชายอยากทำข้ามธุปกยาสถวายพระสงฆ์ซึ่งมีพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นประธาน และได้ชวนพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ทำ จึงตกลงแบ่งนากัน เมื่อน้องชายได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้วก็ทำทานถึง 3 ครั้ง คือ ตอนที่ข้าวเป็นน้ำนม 1 ครั้ง ฟาดข้าว 1 ครั้ง และขนข้าวขึ้นยุ้งอีก 1 ครั้ง ในการถวายทานทุกครั้งปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์ ครั้นถึงสมัยพระโคดมก็ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ โกญทัญญะ ได้ออกบวชเป็นปฐมสาวก แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
       ส่วนพี่ชายถวายข้าวในในเพียงครั้งเดียวคือในเวลานวดข้าวเสร็จแล้ว และได้ตั้งปณิธานขอสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล และต่อมาได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชก ได้บวชในศาสนาของพระโคดม แต่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโคดม คงเพียงได้กราบบังคมทูลถามข้อสงสัยในขณะที่พระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน เมื่อได้ฟังดำรัสแล้วก็สำเร็จเป็นพระอนาคา และเป็นอริยสงฆ์องค์สุดท้ายในสมัยพุทธกาล

       พิธีทำบุญคูณลาน ในตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนอาจมีการคบงันบ้าง ตอนเข้าถวายภัตตาหารบิณฑบาตร เทศนาฉลองสู่ขวัญลาน เลี้ยงอาหารแก่ผู้ไปร่วมพิธี พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ เอาน้ำมนต์ไประข้าว วัว ควาย เชื่อว่าเข้าของจะอยู่เย็นเป็นสุข ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีจึงขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าว คือ เชิญเจ้าแม่โพสพไปยังยุ้งข้าว
       การทำบุญคูณลานนี้ทำขึ้นเฉพาะนาใครนามัน ทำส่วนตัว แต่ถ้าทำส่วนรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญคุ้ม หรือ บุญกุ้มข้าวใหญ่ คนทั้งหมู่บ้านมาทำบุญร่วมกัน โดยมีการปลูกปะรำขึ้น มีการนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกัน มารับศีลฟังธรรมถวายอาหารพระสงฆ์ อันนี้เรียกว่า บุญคุ้ม แต่ถ้าเป็นบุญคุ้มข้าวใหญ่ก็มีการนำข้าวเปลือกมารวมกัน ทำพิธีเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สถานที่ ซึ่งต้องใช้ศาลาโรงธรรมหรือศาลากลางบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น