วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เดือนห้า

เดือนห้า - บุญสงกรานต์

       คำว่า "สงกรานต์" เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ซึ่งในที่นี้หมายถึงพระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีหนึ่ง ก็เรียกว่า "สงกรานต์" ปีหนึ่งมี 12 ราศี แต่วันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษ เราเรียกเป็นพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" เพราะถือว่าเป็นวันและเวลาขึ้นปีใหม่ตามคติโบราณ

       มูลเหตุที่จะมีบุญสงกรานต์มีเรื่องเล่าว่า กบิลพรหมจากพรหมโลกมาถามปัญหาธรรมบาล 3 ข้อ คือ คนเราในวันหนึ่ง ๆ เวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาเย็นศรีอยู่ที่ไหน ถ้าธรรมบาลตอบได้จะตัดศีรษะตนบูชา แต่ถ้าธรรมบาลตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลเสีย โดยผลัดให้เจ็ดวัน ในขั้นเเรกธรรมบาลตอบไม่ได้ ในวันถ้วนหกธรรมบาลเดินเข้าไปในป่า เผอิญแอบได้ยินนกอินทรีย์สองผัวเมียพูดคำตอบสู่กันฟังว่า ตอนเข้าศรีอยู่ที่หน้า คนจึงเอาน้ำล้างหน้า ตอนกลางวันหรือเที่ยงศรีอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมหน้าอก ตอนกลางวันและตอนเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าในตอนเย็น ธรรมบาลมีความรู้ภาษานกจึงจำคำตอบได้ ถึงเจ็ดวันถ้วน กบิลพรหมมาทวงปัญหา ธรรมบาลตอบได้ตามที่ได้ยินนกพูดกัน กบิลพรหมจึงตัดศีรษะตนบูชาตามสัญญา แต่ศีรษะกบิลพรหมศักดิ์สิทธิ์ หากตกใส่ดินไฟจะไหม้ ตกใส่อากาศฝนจะแล้ง และถ้าทิ้งใส่ในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง กบิลพรหมจึงให้ธิดาทั้งเจ็ด ซึ่งมีชื่อว่า ทุงษ โคราด รากษส มัณฑา กิริณี กิมิทา และมโหทร เอาพานมารองรับศีรษะของตนไว้ แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จึงนำศีรษะกบิลพรหมไปประดิษฐานไว้ที่มณฑปในถ้ำคันธุลี เขาไกรลาส ครบหนึ่งปีธิดาทั้งเจ็ดจะผลัดเปลี่ยนกันมาอัญเชิญศีรษะของกบิลพรหม แห่รอบเขาพระสุเมรุครั้งหนึ่ง พิธีแห่เศียรกบิลพรหมนี้ทำให้เกิดพิธีตรุษสงกรานต์ขึ้น

       พิธีทำบุญสงกรานต์ นิยมทำในเดือนห้า โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน โดยวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายน คือวันสุดท้ายเป็นเถลิงศก ชาวอีสานโบราณถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันแรกมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด ตอนกลางคืนอาจมีการคบงันที่วัด มีการละเล่นต่าง ๆ และมีการสาดน้ำซึ่งกันและกันตลอด 3 วัน คือวันที่ 13-14-15 เมษายน ในวันที่ 15 เมษายนบางแห่งตอนเช้าทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายมีการแขวนธงยาวและก่อเจดีย์ทรายที่วัด นอกนี้มีการสรงน้ำพระสงฆ์และผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ มีพิธีบายศรีสู่ขวัญพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การแห่ข้าวพันก้อน และการแห่ดอกไม้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น