เดือนสิบ - บุญข้าวสาก
ประเพณีบุญข้าวสาก นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายหรือเปรตผู้เป็นญาติพี่น้อง ชาวบ้านจะทำข้าวสาก (ภาคกลางเรียกข้าวสารทหรือข้าวกระยาสารท) ไปถวายพระภิกษุสามเณร
มูลเหตุที่ทำให้เกิดบุญข้าวสากมีว่า บุตรกุฏมณีผู้หนึ่งเมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้ว แม่ก็หาภรรยาให้ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แม่จึงหาหญิงอื่นให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉาจึงคิดฆ่าเมียน้อยและลูก ก่อนตายเมียน้อยคิดอาฆาตเมียหลวง ชาติต่อมาทั้งสองเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ และอาฆาตเข่นฆ่ากันเรื่อยมา จนชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นคน อีกฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นยักษิณี ยักษิณีจองเวรได้มากินลูกของผู้เป็นคนถึงสองครั้ง พอเกิดลูกคนที่สามยักษิณีจะตามมากินอีก หญิงคนนั้นพร้อมลูกและสามี จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าได้เทศนาให้ทั้งสองเลิกจองเวรกัน และโปรดให้ทางยักษิณีไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษิณีมีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งอย่างบริบูรณ์ นางยักษิณีจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอีสานจึงถือเป็นประเพณีถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากสืบต่อมาและมีการเปลี่ยนเรียกนางยักษิณีว่า ตาแฮก
พิธีทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ใส่ภาชนะหรือห่อด้วยใบตองหรือใส่ชะลอมไว้แต่เช้ามืด วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตอนเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอตอนสายจวนเพลจึงนำอาหารซึ่งเตรียมไว้แล้วไปวัดอีกครั้ง เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำเอาห่อหรือชะลอมหรือข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ นอกจากนี้ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น