กวีโวหาร และสำนวนโวหาร
ในวรรณคดีร้อยกรองเรียกโวหารที่กวีและผู้ประพันธ์ใช้ในการสร้างจินตนาการให้เกิดแก่ผู้อ่านว่า “ กวีโวหาร “ ส่วนในวรรณคดีร้อยแก้ว เรียกว่า “ สำนวนโวหาร “
จินตภาพ หรือ ภาพในจิต เป็นภาพที่เกิดขึ้นในจินตนาการตามที่บุคคลนั้นเคยประสบมา การสร้างจินตภาพทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้ ความเข้าใจในวรรณคดี วรรณกรรมนั้น ๆ
การใช้โวหารเพื่อสร้างจินตภาพ ผู้แต่งจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาหรือใช้โวหารภาพพจน์ก็ได้
๑. การสร้างจินตนาการโดยกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เช่น
ภาพเด็กน้อยไร้เดียงสานัยน์ตาแจ่ม กับรอยแย้มรอยยิ้มแก้มหมอง
๒. การสร้างจินตภาพโดยใช้โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีหรือชั้นเชิงที่ผู้แต่งใช้ในการเรียบเรียงถ้อยคำให้มีพลังที่จะสัมผัสอารมณ์ของผู้อ่าน ผู้ฟังจนเกิดความประทับใจและเห็นภาพในจิต โวหารภาพพจน์จะก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจได้มากกว่าที่จะใช้ถ้อยคำกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ภาพพจน์ มาจากภาษาอังกฤษว่า Figure of Speech ถ้าตีความหมายของคำก็คือคำที่ทำให้เกิดภาพหรือเห็นภาพ ภาพพจน์จึงหมายถึงคำหรือสำนวนโวหารที่กวีหรือผู้ประพันธ์ใช้เพื่อสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้อ่านหรือผู้ฟังบทกวีนั้น โวหารภาพพจน์ที่นักเรียนควรจะรู้จัก
๑. อุปมา คือการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง คำที่ใช้เชื่อมสิ่งที่เปรียบเทียบ ได้แก่ เหมือน เปรียบ ประดุจ ราว ราวกับ ประหนึ่ง ละมาย เสมอเหมือน ปาน เทียบ เพียง ดัง ดั่ง เพี้ยง พ่าง ปูน เฉก อย่าง กล ดูราว คล้าย เล่ห์ เป็นต้น เช่น
เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า ผิบได้เห็นหน้า
ลอราชไซร้ดูเดือน ดุจแล
ตาเหมือนตามมฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช
ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา
ขึ้นทรงรถทองผ่องพรรณ งามงอนอ่อนฉัน
เฉกนาคราชกำแหง
นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
โศกพี่โศกสมด้วย ดั่งไม้นามมี
รักดั่งรักนุชพาง พี่ม้วย
เรืองรองพระมนทิรพิจิตร กลพิศพิมานบน
เย็นพระยศปูนเดือน เด่นฟ้า
๒. อุปลักษณ์ เป็นการเปรียบเทียบอีกวิธีหนึ่ง ต่างกับอุปมาตรงที่อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรง ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง หรือการเปรียบเทียบของสองสิ่งว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือเท่ากันทุกประการ มี ๓ ลักษณะ คือ
๒.๑ ใช้คำ เป็น เท่า คือ ในการเปรียบเทียบ เช่น ลูกเป็นดวงใจของแม่ ปากเล็กเท่ารูเข็ม ปัญญาคือดาบสู้ดัสกร น้ำเงินคือเงินยวง อำมาตย์เป็นบรรทัด ถ่องแท้ แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
๒.๒ ใช้คำที่จะเปรียบซ้อนไว้ข้างหน้า เช่น ไฟโทสะ (โทสะเป็นไฟ) ทะเลภูเขา (ภูเขาเป็นทะเล)
๒.๓ ใช้กลุ่มคำนั้นแสดงการเปรียบเทียบ เช่น
มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่ ( เปรียบเสียงธรรมชาติที่ประสานกลมกลืนกันเป็นมโหรีจากราวป่า) พิณพาทย์ไพรกล่อมขับสำหรับดง (เปรียบเทียบเสียงในธรรมชาติเป็นพิณพาทย์ไพร)
พิณฟ้า ณ ราตรี ธรณีสุโนกเนา (เปรียบเสียงนกร้องเป็นพิณฟ้า)
๓. บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต หรือ บุคคลสมมติ คือ ภาพพจน์ที่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณเสมือนเป็นสิ่งที่มีชีวิตมีวิญญาณ ผู้ฟ้งหรือผู้อ่านจะมองเห็นภาพเหล่านั้นเคลื่อนไหวทำกิริยาเหมือนคน มีอารมณ์ มีความรู้สึก มี ๓ ลักษณะ คือ
๓.๑ การใช้คำกริยาของคนกับสิ่งที่ไม่ใช่คน เช่น
ป่าห่มเสื้อสีเขียวขจีอย่างมีมนตร์
ฟ้าร้องไห้
คลื่นกระทบฝั่ง
ทะเลครวญ
ดวงตะวันยิ้มพรายทักทายโลก
หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ
๓.๒ การสร้างให้นามธรรม หรือธรรมชาติเป็นบุคล เช่น
ธรรมะ สร้างเป็น ธรรมเทวบุตร
ฟ้าแลบ “ เมขลาล่อแก้ว
ข้าว “ แม่โพสพ
แผ่นดิน “ แม่พระธรณี
๓.๓ การสร้างตัวละครในนิทานที่เป็นสัตว์ พืช วัตถุ ให้มีความนึกคิดและแสดงบทบาทคล้ายคน เช่น นี่ท่านมาแต่ไหนทำไมเล่า มาไล่ถามพวกเราช่างน่าขำ
มีป่าเขาลำเนาไหนที่ทรงธรรม มิเคยดำเนินผ่านท่านตอบที
๔. สัญลักษณ์ คือ การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งเนื่องจากมีคุณสมบัติร่วมกันหรือเกี่ยวข้องกัน
ไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์แทนศาสนา คริสต์
ดอกประดู่ “ “ ทหารเรือ
น้ำค้าง “ “ ความบริสุทธิ์
นกพิราบ “ “ สันติภาพ
สีขาว “ “ ความบริสุทธิ์
หงส์ “ “ คนสูงศักดิ์
๕. อติพจน์ คือ การกล่าวเกินจริงเพื่อเน้นความรู้สึก มิใช่การกล่าวเท็จ เช่น
น้ำตาแม่ตกริน หยาดหนึ่ง
อาจลวกใจลูกเสี้ยน โล่งล้านเลือนทะนง
( คำประพันธ์นี้ต้องการเน้นให้เห็นความสำคัญของน้ำตาแม่ที่มีต่อจิตใจลูก)
เอียงอกเทออกอ้าง อวดองค์ อรเอย
(คำประพันธ์นี้ต้องการให้ทราบถึงความรู้สึกในจิตใจของผู้แต่ง)
แล้วสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า
๖. อธิพจน์ คือ การกล่าวเชิงโอ้อวด โดยมีเจตนาให้รู้สึกขัน เช่น
พี่ก็ทรงศักดากล้าหาญ แต่ข้าวสารเต็มกระบุงยังยกไหว
ปลาแห้งพี่เอาเข้าเผาไฟ ประเดี๋ยวใจเคี้ยวเล่นออกเป็นจุณ
(บางตำราอติพจน์และอธิพจน์มีความหมายเหมือนกันโดยใช้ชื่อ อธิพจน์)
๗. ปฏิพากย์ หรือ ปฏิวาหะ หรือวิภาษ คือ การใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกันนำมาเข้าคู่กันได้อย่างกลมกลืน ทั้งนี้เพื่อสร้างอารมณ์สะเทือนใจ และให้สารลึกซึ้งกินใจ เช่น
เสียงน้ำซึ่งกระซิบสาดปราศจากเสียง ( เสียง กับ ปราศจากเสียง เป็นปฎิพากย์กัน)
ไฟฟ้าสว่าง แต่ลูกรู้สึกมืดจนน่าใจหาย ( สว่าง กับ มืด เป็นปฏิพากย์กัน)
ความขมขื่นอันหวานชื่น ( ขมขื่น กับ หวานชื่น เป็นปฏิพากย์กัน )
ยิ่งเย็นเยียบยิ่งเดือดมิรู้ดับ (เย็นเยียบ กับ เดือด เป็นปฏิพากย์กัน)
หมายเหตุ คำซ้อนเพื่อความหมายที่นำคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกันมาซ้อน เช่น ยินดียินร้าย ล้มลุก สุกดิบ คู่คี่ ตัดต่อ ก็จัดอยู่ในลักษณะภาพพจน์เชิงปฏิพากย์
๘. ปฎิภาคพจน์ หรือ อรรถวิภาษ หรือ ปฎิพจน์ คือ การใช้ข้อความที่มีความหมายขัดแย้งกัน ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว เป็นสิ่งที่แปลกแต่จริง นำมากล่าวอย่างกลมกลืน คล้องจอง ทำให้ได้ความหมายกินใจลึกซึ้ง ภาพพจน์ประเภทนี้ผู้อ่านจะต้องวิเคราห์ความหมายให้ลึกซึ้งลงไปจึงจะได้อรรถรสและเห็นความงาม เพาะส่วนใหญ่มักจออกไปในทำนองแนวคิดหรือปรัชญา เช่น
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
ยิ่งมีกรรมการมาก งานยิ่งช้า
ยิ่งมียิ่งได้ยิ่งไร้ยิ่งแคลน
ดิฉันแอนตี้การพูดภาษาไทยปนฝรั่ง
ที่ใช้ในลักษณะที่เป็นคำคะนองก็มี เช่น เลวบริสุทธิ์ บาปบริสุทธิ์ สวยเป็นบ้า ไฉไลเป็นบ้า สวรรค์บนดิน เป็นต้น
๙. สัทพจน์ คือ การใช้คำเลียนเสียง นอกจากจะใช้ศิลปการแต่งแล้ว ยังจัดเป็นโวหารภาพพจน์ด้วย เพราะใช้คำเลียนเสียงแทนสิ่งนั้น แนะให้เห็นภาพของสิ่งนั้นได้ เช่น ใช้เสียงเห่งงหง่าง แทนระฆัง แนะให้เห็นภาพของระฆังได้ และสัทพจน์นั้นอาจหมายถึง การใช้คำที่มีเสียงบ่งถึงสี แสง ท่าทางเป็นต้น ได้ด้วย เช่น
“บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา”
“แอดออดออดแอดแอดออด ไผ่สอดพลอดซอพ้อส่ง”
“ป๊ะโท่นป๊ะโท่นป๊ะโท่นโท่น บุรุษสิโอนสะเอวไหว “
“ปวงประชาราษฎร์อาเพศ เปรตกู่ก้องร้องตะเบิม
กระหายเหิมแลบลิ้นอยู่ วะวาบวะวาบ
แสยะเขี้ยวเขียวปลาบอยู่ วะวับวะวับ”
(วะวาบวะวาบ , วะวับวะวับ เป็นทั้งสัทพจน์ และอัพภาส )
๑๐. ปฎิปุจฉา คือ การใช้คำถามที่รู้คำตอบอยู่แล้ว หรือไม่หวังคำตอบ เพราะผู้ถามต้องการเรียกร้องความสนใจมากว่าคำตอบ หรือถ้าจะมีคำตอบก็มักจะเป็นตอบปฏิเสธ เช่น
“ลงกาเป็นสองเมืองหรือ ให้น้องแล้วจะรื้อมาให้พี่”
“ฝนแล้งอย่างนี้ชาวนาชาวไร่จะทำอย่างไรกัน”
“หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้หรือ”
“เจ้าเกิดมาเหมือนหนึ่งจะแกล้งฆ่า มันไม่น่ายินดีสักนิด
จะเลี้ยงดูอย่างไรในไพรชิด คิดคิดก็กำสรวลสลดใจ”
“ อันองค์ท้าวดาหาธิบดี นั้นไม่ใช่อาหรือว่าไร
มาตรแม้นเสียเมืองดาหา จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่ “
๑๑.นามนัย คือ การกล่าวถึงชื่อสิ่งหนึ่งให้มีความหมายเป็นอย่างหนึ่ง
๑๑.๑ การกล่าวถึงชื่อคน แต่หมายถึงผลงานของเขา เช่น
ฉันชอบหม่อมราโชทัยเท่า ๆกับสุนทรภู่
( หมายความว่า ฉันชอบผลงานของหม่อมราโชทัยเท่า ๆ กับของสุนทรภู่)
๑๑.๒ การกล่าวถึงชื่อสถานที่แต่หมายถึงคนที่อยู่ที่นั่น เช่น
ไม่มีคำตอบจากจุฬา
(หมายความวา ไม่มีคำตอบจากนิสิตหรืออาจารย์จากจุฬา)
๑๑.๓ การกล่าวถึงผลิตภัณฑ์หรือวัตถุแต่หมายถึงผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันหรือหมายถึงสิ่งอื่น
อาภัสราเคยกระชากมงกุฎนางงามจักรวาล
(หมายความว่า อาภัสราเคยได้รับตำแหน่งนางามจักรวาล)
๑๑.๔ การพูดหรือเขียนอย่างหนึ่งแต่ให้มีความหมายเป็นอย่างหนึ่ง เช่น
เขาถูกรุมกินโต๊ะ
(หมายถึง เขาถูกทำร้ายหรือโจมตี)
๑๑.๕ การใช้คุณสมบัติเด่น ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อให้มีความหมายคลุมหมดทุกส่วน หรือใช้ชื่อส่วนประกอบเด่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
เป็นหูเป็นตา หมายถึง คนช่วยดูแล
ศึกฟาดแข้ง “ การแข่งขันฟุตบอล
รอยย่นที่ขอบตา “ ความชรา ความร่วงโรยของร่างกาย
๑๒.การกล่าวเย้ยหรือกล่าวประชด มีลักษณะเป็นการกล่าวประชดประชัน เยาะเย้ยไปจนถึงแดกดัน และเหยียดหยามเป็นขั้นที่สุด โดยไม่กล่าวตรงไปตรงมา แต่ใช้วิธีการพูดให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายที่แท้จริงเอาเอง เช่น
แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา
เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์
๑๓. การลดความหมายของคำ คือการใช้ถ้อยคำอื่นแทนคำที่มีความหมายรุนแรงหรืออาจกระทบกระเทือนใจได้ เป็นการเลี้ยงน้ำใจผู้ฟังให้มีความสุขสดชื่น ถือเป็นความสุภาพโดยใช้ภาษาเป็นสื่อได้ เช่น
สตรีสูงอายุ ใช้แทน หญิงแก่
ผู้สูงอายุ “ คนชรา
ฉันไม่ค่อยชอบ “ ฉันเกลียดเขา
เธอสุขภาพดีขึ้น “ เธออ้วน
เธอขยันน้อยไปหน่อย “ เธอขี้เกียจมาก
เขาไม่ชอบจ่ายเงิน “ เขาขี้เหนียว
โวหาร
โวหาร คือ การใช้ถ้อยคำในการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ หรือเกิดความรู้สึกคล้อยตาม ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ ตามจุดมุ่งหมายของผู้เขียน โวหารที่ใช้ในการประพันธ์นั้นแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
๑. บรรยายโวหาร คือโวหารที่เล่าเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วน อ่านแล้วเข้าใจแจ่มชัด เป็นขั้นเป็นตอน มีลำดับเหตุการณ์ ใช้เล่านิทาน ประวัติ ตำนาน หรือจดหมายเหตุต่าง ๆ
๒. พรรณนาโวหาร คือ โวหารที่มีลักษณะคล้ายบรรยายโวหารมาก เพียงตาสอดแทรกอารมณ์ ความรู้สึก ให้ผู้อ่านคล้อยตามบทประพันธ์นั้น ๆ ใช้ในการชมความงาม ของสิ่งต่าง ๆ เรื่องสดุดี ธรรมชาติ การแสดงความรู้สึก
๓. เทศนาโวหาร คือ โวหารที่เป็นคำสอน โอวาท ผู้อ่านแล้วเห็นความดีงามไปกับข้อความนั้น ๆ มีเนื้อหาทำนองสั่งสอน
๔. สาธกโวหาร คือ โวหารที่ยกตัวอย่างหรือเรื่องราวประกอบ มักแทรกในเทศนาโวหาร
หรือบรรยายโวหาร
ตัวอย่างบรรยายโวหาร
มาจะกล่าวบทไป ถึงสี่องค์ทรงธรรม์นาถา
เป็นหน่อเนื้อเชื้อวงศ์เทวา ปิตุเรศมารดาเดียวกัน
รุ่งเรืองฤทธาศักดาเดช ได้ดำรงนคเรศเขตขัณฑ์
พระเชษฐาครองกรุงกุเรปัน ถัดนั้นครองดาหาธานี
ตัวอย่างพรรณนาโวหาร
ยอดมัวสลัวเมฆ รุจิเรขเรียงราย
เลื่อมเลื่อมศิลาลาย ก็สลับระยับสี
ขาบแสงประภัสสร นิลก้อนตระการดี
ขาวแม้นมณีมี รตรุ้งรำไพพรรณ
ตัวอย่างสาธกโวหาร
ควรชมนิยมจัด คุรุวัสสการพราหมณ์
เป็นเอกอุบายงาม กลงำกระทำมา
พุทธาทิบัณฑิต พิเคราะห์ติดพินิจปรา-
รภสรรเสริญสา- ธุสมัครภาพผล